ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงสู่แดนลบ โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่ตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 23.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,340.14 จุด ลบ 28.33 จุด หรือ 0.08%
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
ราคาหุ้นของแบงก์ ออฟ อเมริกา, มอร์แกน สแตนลีย์ และพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ต่างดีดตัวขึ้น หลังเปิดเผยผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
บริษัทจำนวน 33 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาส 4 แล้ว โดยเกือบ 70% ในจำนวนดังกล่าวมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี ภาวะการซื้อขายในตลาดได้รับผลกระทบจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.9% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2562 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.06% โดยอยู่เหนือระดับ 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 25-26 ม.ค. หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์