ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานับเป็นช่วง
เวลาทองของโทเคนดิจิทัลสัญชาติไทย เช่น KUB, JFIN หรือ SIX ที่ราคาพุ่งขึ้นหลายสิบเท่าในช่วงเวลาไม่กี่วัน และตกลงอย่างรุนแรงมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาสูงสุดภายในวันเดียว จึงเกิดข้อครหาและข้อสงสัยจากนักลงทุนทั้งหน้าใหม่หน้าเก่ามากมายว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นกลยุทธ์ของการปั่นราคา (Pump and Dump) ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่
หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวตามกฎหมายคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องพิจารณาและตรวจสอบว่ามีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนหรือไม่ จึงน่าตั้งคำถามว่ากฎหมายและแนวทางในการตรวจสอบการกระทำความผิดในปัจจุบัน สามารถป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรม หรือเอาผิดผู้ที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม เกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการปั่นราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดได้หรือไม่? เพียงใด?
โดยกฎหมายกำหนดลักษณะของการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไว้หลายรูปแบบ เช่น การห้ามบุคคลใดเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความอันอาจจะก่อให้เกิดความสำคัญผิด ห้ามวิเคราะห์หรือคาดการณ์ ไม่ว่าโดยข้อมูลเท็จหรือไม่ครบถ้วน จนทำให้เกิดความสำคัญผิด ห้ามบุคคลใดซึ่งรู้ข้อมูลภายในทำการซื้อ-ขาย หรือเปิดเผยเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลอื่น หรือส่งคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจนทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณหรือราคาซื้อขาย แม้กระทั่งการส่งคำสั่งหรือยกเลิกคำสั่งซื้อขาย (ยังไม่ได้ซื้อขายจริง) ที่น่าจะทำให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และเป็นเหตุให้ระบบซื้อขายล่าช้าหรือหยุดชะงัก ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีบทลงโทษตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวทางการกำกับของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีฐานแนวคิดมาจาก พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หมวด 8 ที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อน่าพิจารณาว่ารูปแบบและวิธีการกำกับดังกล่าวจะสามารถนำมาปรับใช้กับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ด้วยเหตุที่ลักษณะของเทคโนโลยีและรูปแบบการซื้อขายแตกต่างกันอย่างมาก
รวมถึงตลาดรองที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบเดิมจะมีตลาดรองเพียงตลาดเดียว คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันนั้น อาจถูกซื้อขายในตลาดรองในประเทศไทยที่มีหลายตลาด รวมถึงอาจถูกซื้อขายข้ามไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย การใช้แนวคิดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรมรูปแบบเดิมที่มีการตรวจสอบแบบรวมศูนย์จึงอาจไม่เพียงพอต่อการปกป้องความเสียหายของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอีกต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC)