บริษัทประกันภัยแจง เหลือ
กรมธรรม์ประกันโควิด เจอจ่ายจบ ค้างอีก 8.5 ล้านฉบับบังคับใช้ถึงมิ.ย.ปีหน้า หวั่นกระทบฐานะ หลังงวด 9 เดือนพบ 6 บริษัทกอดคอขาดทุน แห่เข้ามาตรการเสริมสภาพคล่องคปภ.
ยังเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อ สำหรับการจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ โดยเฉพาะกรมธรรม์ที่ยังคงมีผลบังคับอีก 8.5 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยออกมาเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยกเลิกคำสั่งห้ามยกเลิกประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ เพราะเกรงว่า จะเกินกำลังของบริษัทประกันภัยจนต้องปิดกิจการไป
ทั้งนี้จากสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศพบว่า อัตราผู้ติดเชื้อที่มีประกันโควิด-19 สูงถึง 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์สูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยถึง 35.7% ขณะที่ยอดเคลมที่ผ่านมารวมบริษัทเอเซียประกันภัยแล้ว 37,000 ล้านบาทและคาดว่าจะทะลุ 40,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2564 ซึ่งจะกินเงินกองทุนของบริษัท 30% จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10%ของเงินกองทุน
ขณะที่คปภ.ได้ผ่อนเกณฑ์ตามมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยลดภาระการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกัน โดยผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และให้เพิ่มทุนหรือจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นในการปรับปรุงฐานะเงินกองทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการจ่ายชดเชยค่าสินไหมประกันโควิด โดยมีผลตั้งแต่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 โดยอนุมัติไปแล้ว 3 บริษัทคือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
จ่อเข้ามาตรการคปภ.
แหล่งข่าวในวงการประกันภัยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทประกันวินาศภัยมีแนวโน้มจะยื่นขอเข้ามาตรการเสริมสภาพคล่องจากคปภ.เพิ่มขึ้น หลังจากที่ผลดำเนินงานไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนที่ออกมาพบว่า หลายบริษัทประสบภาวะขาดทุนจากค่าสินไหมชดเชย โดยเฉพาะบริษัทประกันวินาศภัยรายกลางและรายเล็กรวมถึงรายที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทรายใหญ่ แม้กำไรจะลดลงแต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง
สอดคล้องกับผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2564 ของบริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักหลักทรัพย์ 18 แห่งพบว่า มีผลขาดทุนรวม 3,465.9 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,130.9 ล้านบาท
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมประมาณการของบริษัทวินาศภัยพบว่า ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการะบาดของโควิด-19 ในอนาคตที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งมีนัยยะต่อการคำนวณสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามทุนประกันของผลิตภัณฑ์คุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19
ระสํ่า! ลุ้นเคลม 8.5 ล้านราย ประกันโควิดอ่วม 3 รายจ่อเพิ่มทุน
ระสํ่า! ลุ้นเคลม 8.5 ล้านราย ประกันโควิดอ่วม 3 รายจ่อเพิ่มทุน
รายกลางยังอ่วม
เริ่มจากเครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) ได้สำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดที่ประมาณขึ้นของกลุ่มบริษัท 2,550.51 ล้านบาท จากธันวาคม 2563 ที่ 2,854.56 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ ทั้งนี้กลุ่มบริษัทได้รับผลกระทบจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แต่บริษัทได้ทำสัญญาประกันภัยต่อกับกิจการที่เกี่ยวข้องแห่งหนึ่ง จึงไม่มีการตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ผู้บริหารได้พิจารณาผลลัพธ์อย่างสมเหตุสมผลแล้ว เชื่อว่าจำนวนสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ในภาพรวมยังเพียงพอกับสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในภาพรวมภายใต้สมมุติฐานที่ กรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่มีผลบังคับใช้ของกลุ่มบริษัท 1 ล้านกรมธรรม์ อัตราติดเชื้อของคนไทย 3.32%ของจำนวนประชากร และอัตราการติดเชื้อของผู้ถือกรมธรรม์ของบริษัทย่อย 5.09% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ประมาณการค่าความเสียหายต่อเคลม 50,000-200,000 บาท
นอกจากนั้นยังคาดการณ์อัตราการติดเชื้อของคนไทยสะสมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่ 4.35% ความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มเป็น 1,282 ล้านบาท อัตราการติดเชื้อของผู้ถือกรมธรรม์ของกิจการ 5.94% ประมาณการค่าความเสียหายต่อเคลมเพิ่มขึ้น 20% เป็น 256.56 ล้านบาท
ถัดมาคือบริษัท ไทยรับประกันภัยขาดทุน 7,851 ล้านบาทในไตรมาส 3 และ 7,437 ล้านบาทในงวด 9เดือน โดยบริษัทตั้งสำรองค่าความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด 860 ล้านบาท จากประมาณการความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดที่ 1,824 ล้านบาทในสิ้นปี 2564 และ 4,734 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายรับ
ทั้งนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากกรมธรรม์โควิดมากขึ้นจากการทำสัญญาประกันภัยต่อกับกิจการที่เกี่ยวข้องแห่งหนึ่ง โดยมีจำนวนกรมธรรม์โควิดที่มีผลบังคับใช้ของบริษัทและกิจการที่เกี่ยวข้องราว 1.3 ล้านกรมธรรม์ โดยคาดอัตราผู้ติดเชื้อของผู้ถือกรมธรรม์ที่ 5.05% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดที่มีกรมธรรม์โควิด ประมาณค่าเสียหายต่อกรมธรรม์ 50,000-200,000 บาท
หวั่นติดเชื้อใหม่พุ่ง
กลับมาดูบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการผ่อนเกณฑ์ตามมาตรการเสริมสภาพคล่องจากคปภ.เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 โดยบริษัทกำลังพิจารณาปัจจัยต่างๆรวมถึงจำนวนมูลค่าของค่าสินไหมทดแทนที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจนถึงเดือนเมษายน 2565 เพื่อพิจารณาเงินทุนที่คาดว่า จะต้องเพิ่มทุนและแนวทางการเพิ่มทุนเพื่อรองรับเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
บริษัทไม่มีการตั้งสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดที่ประมาณการอยู่ที่ 4,900.8 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จากสิ้นปีก่อนที่ 3,165.8 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าสำรองประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้
จากข้อสมมติฐานที่ผู้บริหารใช้ในการประมาณการ ยังมีกรมธรรม์คุ้มครองโควิดที่ยังมีผลบังคับอยู่ 2 ล้านกรมธรรม์ 99% ของกรมธรรม์ประกันโควิดครบกำหนดในเดือนเมษายน 2565 สินไหมที่ใช้คาดการณ์ในอนาคต 82,000-83,000 บาท โดยพิจารณาจากวิธีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามทุนประกันของกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับอยู่
ภายใต้ข้อสมมติฐานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยจากความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต 3 โมเดลจากสมมติฐานของศูนย์วิจัยกรุงศรี ได้แก่
Base Scenario ถ่วงน้ำหนักความน่าจะเป็น 75% ต่อคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 3,500 รายต่อวัน ภายใต้สมมติฐานอัตราการฉีดวัคซีน 460,000 โดสต่อวันและวัคซีนมีประสิทธิภาพ 50%
Worst Scenario ถ่วงน้ำหนักความน่าจะเป็น 12.5% คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 6,700 รายต่อวัน การฉีดวัคซีน 460,000 โดสต่อวันและวัคซีนมีประสิทธิภาพ 40%
Double Wave Scenario ถ่วงน้ำหนักความน่าจะเป็น 12.5% เป็น Scenario ที่บริษัทคาดการณ์ว่า จะมีการระบาดภาพรวมจํานวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7,500 วันต่อวัน โดยในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมปีนี้คาดว่า มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 2800 รายต่อวันและคาดการณ์การระบาดระลอกใหม่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด 20,000 รายต่อวันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 และจะค่อยๆลดลงเหลือจำนวนเฉลี่ย 4,200 รายต่อวันในเดือนเมษายน 2565
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ที่คืบหน้าทยอยจ่ายเคลมสินไหมโควิดไปแล้วประกอบด้วยบมจ.อาคเนย์ประกันภัย 7,500 ล้านบาท ไทยประกันภัย 1,900 ล้านบาท บมจ.สินมั่นคง 6,800 ล้านบาท วิริยะประกันภัย 5,700 ล้านบาท บมจ.กรุงเทพประกันภัย 3,500 ล้านบาท และบมจ.เมืองไทยประกันภัย 1,300ล้านบาท
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,735 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564