น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า ครม.ยังอนุมัติโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ChulaCov 19 mRNA เพื่อทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีน เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท จะเป็นประโยชน์ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ครบวงจร ทำให้ไทยผลิตวัคซีนโควิด-19 ใช้ได้เองและต่อยอดเทคโนโลยีสู่การผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Baiya) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมฯ พ.ศ.2564
วัคซีนโควิดฝีมือคนไทยใช้ได้ปี 65ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.อนุมัติงบประมาณในส่วนโครงการของ อว. 2 โครงการที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด -19 ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย โดยรัฐบาลได้สนับสนุนงบเต็มที่ ให้สามารถผลิตวัคซีนโควิดในประเทศได้ รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพ ขึ้นทะเบียน นำมาใช้ได้ครบวงจรในทุกขั้นตอน วัคซีนทั้งสองชนิดนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ มีเป้าจะขึ้นทะเบียนได้ประมาณกลางปี 2565 คาดว่าจะผลิตได้ไม่น้อยกว่า 60 ล้านโดส เมื่อเราสามารถพัฒนาวัคซีนและผลิตด้วยตัวเองในทุกระยะ รวมทั้งสามารถดัดแปลงและปรับวัคซีนให้ครอบคลุมเชื้อซึ่งจะกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ไทยจะสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 หรือเชื้ออื่นๆได้ในอนาคต