อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งจากปัจจัยนักลงทุนต่างชาติทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยตามความหวังทยอยเปิดประเทศในเดือนหน้าและแรงขายทำกำไรทองคำ
อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ (ณ สิ้นวันที่ 12 ตุลาคม)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยตามความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการทยอยเปิดประเทศในเดือนหน้า นอกจากนี้ แรงขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่ เรายังมองว่า เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ และการจะกลับไปแข็งค่าหนักในระยะสั้น อาทิ เช่น แข็งค่ากลับไปแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แบบในรอบก่อนหน้า อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ล่าสุด ก็ดูมีแนวโน้มน่ากังวลอยู่ หลังยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์
ผู้เล่นในตลาดการเงินทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยตลาดเริ่มลดความกังวลต่อการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ (Core CPI) ในเดือนกันยายน ทรงตัวที่ระดับ 4.0% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกัน รายงานการประชุมของเฟดล่าสุด ได้ระบุว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าลดคิวอี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม ในอัตราเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้เช่นกัน ซึ่งการทยอยลดคิวอีดังกล่าวของเฟดจะทำให้ การทำคิวอีสามารถยุติลงได้ในช่วงกลางปีหน้า เพื่อปูทางไปสู่การทยอยขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาให้ความสนใจ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ ซึ่งหากผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ยังมีการเติบโตและผู้บริหารให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนได้ว่า ผลประกอบการในอนาคตจะขยายตัวดีเนื่องได้ เราเชื่อว่า การประกาศงบในไตรมาส 3 จะสามารถช่วยพยุงความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้
ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น โดย ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.30% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq +0.73% โดยหุ้นเทคฯ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว +0.70% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ SAP +4.0%, Adyen +3.5%, ASML +2.4% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Louis Vuitton +3.2%, Kering +1.5%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 1.55% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ กอปรกับ รายงานการประชุมล่าสุดของเฟดก็ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการทยอยลดคิวอีในอัตราเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิการยน หรือ เดือนธันวาคม ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังไว้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ตามแนวโน้มเฟดเดินหน้าทยอยลดคิวอีในการประชุมเดือนพฤศจิการยน นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้บอนด์ยีลด์ขยับขึ้นต่อเนื่อง อาจบรรยากาศของตลาดการเงินโดยรวม ว่าจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องหรือไม่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์หลบความผันผวน (Safe Haven) โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 94 จุด ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นเกือบ 2% สู่ระดับ 1,791 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถ้าหากงบออกมาดีกว่าคาดและแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้