͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: มธ.นำเข้า “ยา-วัคซีน” สะเทือน “รัฐบาลลุง” “จุฬาคอฟ19-ไบโอเทค” จุดความหวังคนไทย  (อ่าน 110 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ailie662

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14271
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


วิกฤตโควิด-19 เป็นเรื่องรอไม่ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หาช่องออกข้อบังคับนำเข้าวัคซีนทางเลือก “โนวาแวกซ์” ต้านเชื้อกลายพันธุ์ ตามรอยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่นำเข้า “ซิโนฟาร์ม” มาก่อนหน้า ขณะที่การพัฒนาวัคซีนฝีมือคนไทย “จุฬาคอฟ19” ผลทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 พบกระตุ้นภูมิสูงเทียบเท่าไฟเซอร์ ยังมีไบโอเทคเริ่มขยับทดสอบวัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูกในมนุษย์ 

ทั้งความสับสนอลหม่าน ทั้งซีนดรามาน้ำตารินที่เกิดขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางการจัดหาวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากรด่านหน้าและประชาชนทั้งประเทศ เป็นแรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย หาช่องผ่าทางตันในการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ โดยมองข้ามชอตไปข้างหน้าที่ประเทศไทยต้องมีวัคซีนรุ่นสองรับมือกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ รวมทั้งการจัดหาชุดตรวจเชื้อและยารักษาตัวใหม่ๆ ด้วย

จังหวะก้าวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการเดินตามรอยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งก่อนนี้ได้ออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ในการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้ว
คราวนี้ก็เช่นกัน สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เป็นต้น ความว่า มธ. มีโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมาก ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการให้บริการแก่สังคมในเรื่องการป้องกัน การแก้ไขปัญหาและการรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยฯ จึงกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถเสนอต่ออธิการบดีให้สามารถจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้อง ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและกับต่างประเทศได้

 ถือเป็นการคลายล็อกเปิดทางให้มีการนำเข้าวัคซีน เวชภัณฑ์และยา ได้โดยไม่ถูกมัดมือมัดเท้าอีกต่อไป เพราะอย่างที่รู้กันว่าในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีเรื่องราวดรามาผ่านหน้าเพจไม่ว่างเว้น ทั้งบรรยากาศการทำงานที่แสนจะหนักหน่วง ระบบการรองรับผู้ป่วยใกล้ล่มสลายขาดทั้งเตียงทั้งห้องไอซียู อีกทั้งวัคซีนเข็ม 3 ที่ขอเพื่อฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าก็ได้มาไม่เพียงพอ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องรีบจัดสรรให้เพิ่ม ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ที่ มธ. เผชิญอยู่จะคลี่คลายลงเมื่อมีการปลดล็อก รวมถึงยังสามารถแสวงหาพันธมิตรร่วมมือช่วยเหลือประชาชนคนติดเชื้อได้มากขึ้น แบ่งเบาภาระของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง 

ถ้อยแถลงของ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงการออกประกาศข้างต้นว่าเนื่องจาก ดร.สุรพล นิติไกรพจน์  ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เห็นถึงปัญหาความต้องการวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ในภาวะวิกฤตไม่เพียงกับความต้องการ ทางโรงพยาบาลจึงมีความคิดออกข้อบังคับดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า ขออนุญาต และออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์

 “การออกประกาศมาครั้งนี้จะปลดล็อกสิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องวัคซีน รวมทั้งยาต่างๆ....” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุ พร้อมกับย้ำว่าไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อแสวงหารายได้หรือผลกำไรใดๆ ทั้งสิ้น 

วัคซีนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ สนใจนำเข้านั้น รศ.นพ.พฤหัส ระบุว่า จะเป็นวัคซีนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการนำเข้าของหน่วยงานอื่นหรือทำสัญญาสั่งจองไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โมเดอร์นาจากเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือไฟเซอร์ที่รัฐบาลเพิ่งเซ็นสัญญาสั่งซื้อ โดยวัคซีนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ให้ความสนใจจะเป็นวัคซีนเจนเนอร์ชัน 2 เพื่อเป็นบูสเตอร์โดสให้ประชาชนในรูปแบบวัคซีนทางเลือก โดยตัวอย่างวัคซีนที่จะหารือเพื่อนำเข้าอาจเป็นวัคซีนชนิด mRNA รุ่นที่ 2 หรือโปรตีนซัปยูนิตซึ่งปัจจุบันมียี่ห้อโนวาแวกซ์ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้

การนำเข้าวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังต้องหาผู้ร่วมสนับสนุนเพราะงบประมาณมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนในปริมาณมากเป็นหลักล้านโดสได้ มธ.จึงเปิดกว้างหาพันธมิตรร่วมมือกับองค์กรภายนอก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ราชวิทยาลัย สมาคม รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถนำเข้าได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัคซีนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของวัคซีน เงื่อนไขในการจัดหาต้องจัดซื้อผ่านรัฐบาลหรือองค์กรร่วมที่เป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรธรรมศาสตร์จะเข้าไปดำเนินการในส่วนที่ภาคส่วนอื่นทำไม่ได้หรือทำได้ไม่เพียงพอ ส่วนการกระจายวัคซีนอาจยึดแนวทางของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

แม้การนำเข้าวัคซีนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จะยังไม่มีความชัดเจนเพราะอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม และเจรจาหาพันธมิตร หาช่องทางต่างๆ แต่ภารกิจที่เป็นเป้าหมายแรกในระยะเร่งด่วนนี้ ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ระบุว่า จะดำเนินการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจนตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ATK เพื่อแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของชุดตรวจสำหรับการใช้ในหน่วยงานของ มธ. ที่มีทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และการจัดบริการรักษาพยาบาลแบบกักตัวที่บ้าน รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องราคาโดยชุดตรวจด้วยตัวเองต้องเป็นราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ด้วยราคาประมาณ 45-50 บาท เนื่องจากคุณสมบัติของ ATK ไม่ได้ไวเท่า RT-PCR จึงต้องมีราคาถูกเพื่อใช้ตรวจหลายครั้ง

ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ คาดว่าการนำเข้าและเริ่มกระบวนการผลิตเองขององค์การเภสัชกรรมเพียงพอแล้ว ปัจจุบันมีการใช้ทั้งฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ และแอนติบอดี้ค็อกเทลที่รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จัดหาผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในอนาคต มธ.อาจศึกษาค้นคว้าวิจัยหาตัวยาใหม่ๆ ต่อไป

กล่าวสำหรับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส เป็นเงิน 9,372 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การจัดหาวัคซีนมูลค่า 8,439 ล้านบาทและค่าบริหารจัดการอีก 933 ล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบในไตรมาสที่ 4 และรับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามกับตัวแทนบริษัทไฟเซอร์ กำหนดส่งมอบช่วงไตรมาส 4 เช่นกัน

ในขณะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ออกประกาศคลายล็อกหาช่องทางจัดหาวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหวัง ฟากฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก็มีข่าวคราวความคืบหน้าในทิศทางที่ดีเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ ที่ชื่อว่า   “จุฬาคอฟ 19”  ที่มีการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร 36 คน พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์-ไบออนเทค และสามารถยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์

วัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ ที่ชื่อว่า  “จุฬาคอฟ 19”
วัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ ที่ชื่อว่า “จุฬาคอฟ 19”

วัคซีนแบบพ่นจมูกที่พัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 
วัคซีนแบบพ่นจมูกที่พัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดแถลงข่าวเรื่องการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดแถลงข่าวเรื่องการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19

 ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาลงการณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าของการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร อายุ 18-55 ปี ในเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ว่า วัคซีนจุฬาคอฟ19 กระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในไทยอยู่ขณะนี้
ศ.นพ.เกียรติ ย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และยังเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยในระยะต่อไป โดยการตรวจทดสอบผลประสิทธิภาพของวัคซีนจุฬาคอฟ19 มีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ 3 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“จุฬาคอฟ19 ตัวเลขอยู่ที่ 94% เท่ากับไฟเซอร์ 94%” ศ.นพ. เกียรติ กล่าว พร้อมเสริมว่า จุดตัดประสิทธิภาพวัคซีน ถ้าตัวใดเกิน 68% แปลว่า "น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้" ศ.นพ. เกียรติ กล่าว และไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ สำหรับการทดสอบนี้ แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับปริมาณโดสไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10,25 และ 50 มิลลิกรัม

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนี้เป็นการนำผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์และเนเจอร์ ซึ่งเป็นทอป 5 อันดับของโลกมาเทียบเคียง โดยเป็นงานวิจัยคนละชิ้น ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงได้

นอกจากจุฬาฯ จะตรวจสอบผลประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างเองแล้ว ผลประสิทธิภาพของวัคซีน ยังถูกนำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย โดย  รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุล ได้ตรวจเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงแต่ละสายพันธุ์ เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันในเลือดสามารถจะยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ในหลอดทดลองที่ทำการศึกษาหรือไม่

“เปรียบเทียบเข็ม 1 กับเข็ม 2 ระหว่างจุฬาคอฟ19 กับ ไฟเซอร์ จะเห็นว่า 3 อาทิตย์ หลังฉีดเข็ม 1 ภูมิก็ใกล้เคียงกัน หลังฉีดเข็ม 2 ก็ใกล้เคียงกัน เพราะขนาดตัวอย่างไม่เยอะ ก็คืออยู่ที่ 4,500 ไตเตอร์ สำหรับจุฬาคอฟ และ 1,700 สำหรับไฟเซอร์” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ส่วนประสิทธิภาพในการยับยั้งข้ามสายพันธุ์ วัคซีนจุฬาคอฟ19 ได้รับการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการของ สวทช. ซึ่งทำการตรวจโดยเทคนิค  “สูโดไวรัส” ซึ่งการทดสอบนี้ได้ใช้เกณฑ์เทียบของออกซ์ฟอร์ด วัคซีน กรุ๊ป ซึ่งระบุไว้ว่าระดับประสิทธิภาพของวัคซีนที่น่าจะป้องกันอาการของโรคได้ 80% จะต้องมีค่าภูมิในน้ำเหลืองเกิน 185 ไตเตอร์ นั่นหมายความว่ายิ่งค่าไตเตอร์สูง ภูมิจะยิ่งสูง ซึ่งจากผลวัดระดับไตเตอร์ วัคซีนจุฬาคอฟ19 มีระดับภูมิ เมื่อทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 1,285 ไตเตอร์ สายพันธุ์เดลตา 977 ไตเตอร์ สายพันธุ์อัลฟา 964 ไตเตอร์ ขณะที่สายพันธ์ที่ค่าภูมิในน้ำเหลืองต่ำ ได้แก่ เบตา และแกมมา

ผลทดสอบของอาสาสมัครที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกลุ่มอายุ 18-55 ปี ขณะนี้อาสาสมัครกลุ่มที่สอง อายุ 56-75 ปี อีก 36 คน ได้รับวัคซีนจุฬาเข็มที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม จะเริ่มระยะที่ 2A คือ การฉีดวัคซีนจุฬาคอฟ19 ในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น คือ 150 คน อายุตั้งแต่ 18-75 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้องรอกติกาที่ชัดเจนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ที่จะออกมาภายในเดือนกันยายนนี้ ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยในระยะ 2 B หรือระยะ 3 อย่างไร ซึ่งจะเป็นเกณฑ์สำหรับวัคซีนไทยที่กำลังพัฒนาอยู่ทั้งหมด 4 ทีม ในขณะนี้ หลังขึ้นทะเบียนแล้ว จุฬาคอฟ-19 มีพันธมิตรยุทธศาสตร์ฝ่ายผลิตคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย ซึ่งมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ผลิตวัคซีนมากว่า 10 ปี เชี่ยวชาญทั้ง mRNA วัคซีน และโปรตีนวัคซีน

ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ตั้งเป้าการวิจัยและผลิตวัคซีน จุฬาคอฟ - 19 ในการเป็นวัคซีนเข็มสาม หรือเข็มกระตุ้นภูมิสำหรับคนไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นจริงในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2565

อีกหนึ่งความหวังของคนไทย คือ  “วัคซีนใบยา”  ความคืบหน้าล่าสุด  ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทดสอบวัคซีนในคนระยะแรกจะเริ่มภายในเดือนกันยายนนี้ ขณะนี้บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมพัฒนาวัคซีน รุ่นที่ 2 เพื่อบูสเตอร์โดสรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์อย่างเดลตา คาดจะทดสอบในคนช่วงเดือนธันวาคม และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด คาดว่าจะสามารถฉีดให้ประชาชนทั่วไปประมาณกลางปี 2565

ทั้งนี้ บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการมาตั้งแต่ 3-4 ปี ที่แล้ว มีแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนด้วยพืชที่สามารถออกฤทธิ์ทางยาได้ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตเป็นการพัฒนาเทคนิคการนำไปรตีนจากใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย เพื่อใช้เป็นยาซึ่งเป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่สามารถไปแพร่เชื้อต่อได้ เมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกายจะช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

การพัฒนาเทคนิคการได้ไปรตีนจากใบยาเป็นเทคโนโลยีที่มีมามากกว่า 15 ปีแล้ว และเคยทำสำเร็จในการรักษาโรคอีโบลาในอดีต สำหรับวัคซีนใบยามีแพลตฟอร์มการผลิตที่เหมือนกับวัคซีนโนวาแวกซ์ ของอเมริกาซึ่งใช้เซลล์แมลงในการผลิต แต่วัคซีนใบยาใช้ต้นพืชเป็นตัวผลิต

กระบวนการผลิตวัคซีนที่ใช้พืชสามารถผลิตเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง และสามารถยกระดับจากการผลิตวัคซีนในห้องทดลองมาเป็นการผลิตวัคชีนระดับอุตสาหกรรมได้ทันที สำหรับวัคซีนจากใบยาครั้งนี้ คาดราคาประมาณ 300-500 บาทต่อโดส แต่ถ้าผลิตในปริมาณมากราคาก็จะลดลงไปอีกเนื่องจากต้นทุนต่ำ

ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวคราวความคืบหน้าของวัคซีนชนิดพ่น โดย  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” ว่า “วัคซีน COVID-19 ที่สร้างขึ้นจากอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza-based) Lot แรก ระดับ GMP ถูกผลิตขึ้นโดยทีมวิจัยขององค์การเภสัชกรรมแล้ว วัคซีน Lot นี้จะส่งไปทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองที่ ม.นเรศวร ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อทำการทดสอบในมนุษย์ครับ วัคซีนสูตรนี้เป็นวัคซีนตัวที่สองของทีม สวทช. โดยตัวที่จะออกมาทดสอบก่อนจะเป็น Adenovirus-based ซึ่งได้ทำการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองไปแล้ว...วัคซีนทั้งสองชนิดออกแบบเป็นชนิดพ่นจมูกทั้งคู่...Product of Team Thailand ครับ”

 การแสวงหาโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ เป็นความหวังของคนไทยในภาวะวิกฤตเช่นนี้นับเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอย่างยิ่ง