͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: หอการค้าเหนือชงทูตจีนคนใหม่ เร่งเปิดท่าเรือกวนเหล่ย-ขุดลอกน้ำโขง-เปิดด่านรุ่ยลี่  (อ่าน 105 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Chigaru

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 13687
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


กรณีรัฐบาลจีนได้แต่งตั้ง นายหาน จื้อเฉียง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย หลังจากที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนี้มานานนับปีนั้น ได้ทำให้ภาคนักธุรกิจ โดยเฉพาะหอการค้าทางภาคเหนือของไทยเฝ้าจับตาดูบทบาทว่าจะนำพาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ/เศรษฐกิจไทย-จีนไปในทิศทางใด โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เส้นทางคมนาคมทางเรือเชื่อมการค้า การท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนเชียงราย-พม่า-สปป.ลาว มณฑลยูนนาน สป.จีน ที่หยุดชะงักลง เนื่องจากจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านสำคัญริมฝั่งโขงมานาน

น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ยุคที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซบเซาอันเกิดจากวิกฤตโควิด-19 ภาคการค้าชายแดนไม่ได้เงียบเหงาตามไปด้วย การส่งออกสินค้าตามช่องทางชายแดนของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างของ จ.เชียงรายมีจุดการค้า 4 จุดใหญ่ๆ คือ จุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา, จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน และจุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงของ เชื่อมกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งมีการค้าทั้งกับประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า-ลาว) และ สป.จีน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมผลักดันก็จะสามารถนำมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ช่องทางการค้าชายแดนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าทางเรือแม่น้ำโขงกลับได้รับผลกระทบ เนื่องจากทางการจีนได้สั่งปิดท่าเรือกวนเหล่ย เมืองหล้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาดที่เมืองอู่ฮั่นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว จนทำให้การค้าทางเรือซบเซาลงอย่างหนัก เรือสินค้ากว่า 400 ลำต้องจอดสนิท และผู้คนลุ่มน้ำโขงตกงานกันเป็นจำนวนมาก



รองประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าวอีกว่า ในโอกาสที่ทางการจีนได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ให้เข้ามาทำงาน จึงขอเสนอให้พิจารณารีบดำเนินการใน 3 เรื่องหลักๆ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-จีน คือ 1. ขอให้ทางการจีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ย ภายใต้มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด อนุญาตข้ามแดนเฉพาะสินค้า โดยไม่อนุญาตคนเข้าออก

2. ให้มีการขุดลอกแม่น้ำโขงช่วงที่เรียกว่า "มองป่าแหลว" ชายแดนประเทศเมียนมา-สปป.ลาว ห่างจาก อ.เชียงแสนไปทางทิศเหนือประมาณ 53 กิโลเมตร เพราะช่วงฤดูแล้งเมื่อเขื่อนจิ่งหงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาปล่อยน้ำจากเขื่อนในอัตราที่ต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้เกิดหาดทรายกว้างและตื้นเขินจนเรือสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านได้ บางครั้งต้องใช้การชักลากและเรือเกิดติดค้างอยู่หลายวัน

เรื่องที่ 3 คือ ขอให้พิจารณาเปิดด่านรุ่ยลี่ที่ติดกับด่านมูเซของเมียนมาที่ทางการจีนปิดด่านเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 เช่นกัน แต่ควรเปิดโดยวางมาตรการไม่ให้มีคนเข้าออกเหมือนด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมา-จีนขับเคลื่อนได้

“ดิฉันคาดหวังว่าเมื่อทางการจีนมีเอกอัครราชทูตคนใหม่มาประจำจะทำให้มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้”



น.ส.ผกายมาศกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จ.เชียงรายยังมีจุดการค้าด้าน อ.แม่สาย ที่เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งเดียวของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และติดกับประเทศไทย ซึ่งรัฐฉานมีพื้นที่มากกว่าประเทศกัมพูชาและมีประชากรมากกว่า สปป.ลาว จึงเป็นตลาดใหญ่ ปัจจุบันนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ และมีด่านมูเซ-รุ่ยลี่ที่มีมูลค่าการค้ามหาศาล มีสินค้าไทยส่งออกไปกว่า 50% นอกจากนี้ยังมีด้านถนนอาร์สามเอผ่าน อ.เชียงของ เข้าไปยัง สปป.ลาว และจีนตอนใต้

ดังนั้น เพื่อให้การค้าชายแดนช่วยฉุดดึงเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตในยุควิกฤตโควิด-19 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจึงควรผลักดันการเจรจากับประเทศจีนเรื่องท่าเรือกวนเหล่ยโดยเร็ว ส่วนกระทรวงคมนาคมควรเร่งพัฒนาท่าเรือเชียงแสน โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ยกสินค้าที่ได้มาตรฐาน

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องผลักดันให้มีพิธีสารเพื่อส่งออกผักและผลไม้ไปยังท่าเรือกวนเหล่ยได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงดังกล่าวทำให้ส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปทางเรือไม่ได้ ทั้งๆ ที่ท่าเรือกวนเหล่ยอยู่ในเมืองหล้ามีองค์กรตรวจสอบมาตรฐานผักและผลไม้แบบเดียวกันกับด่านโมฮานที่ติดกับเมืองบ่อเต็น สปป.ลาว บนถนนอาร์สามเอ ซึ่งรับสินค้าผักและผลไม้ไทยไปจาก อ.เชียงของ