͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: WHA กวาดไตรมาส 2 ปี 64 กำไรสุทธิ 260.2 ล้านบาท  (อ่าน 110 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Joe524

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 15802
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 บริษัทมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,873.1 ล้านบาท และ 260.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.3% และ 93.2% จากไตรมาส 1/2564 โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 1,892.5 ล้านบาท และ 282.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% และ 53.6% จากไตรมาสที่แล้ว สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3,278.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 394.9 ล้านบาท โดยหากพิจารณาผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 3,346.8 ล้านบาท และกำไรปกติ 466.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% และ ลดลง 31.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2563

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ 4 กลุ่มธุรกิจในครึ่งปีแรกว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ เติบโตตามความต้องการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าคุณภาพสูงของธุรกิจ E-Commerce และผู้ประกอบการในกลุ่ม Consumer ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา สำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 279.9 ล้านบาท และ 556.9 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงจำนวนกว่า 56,000 ตารางเมตร สูงกว่าเป้าหมายสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่วางไว้ 50,000 ตารางเมตรสำหรับปีนี้ ซึ่งความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ทของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 90%

นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้เปิดตัวโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง แห่งที่ 2 ซึ่งนับเป็นโครงการแห่งที่ 38 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 50,000 ตารางเมตร โดยมีผู้เช่าหลักเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มโลจิสติกส์เพื่อใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทฯ เร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนากระบวนการทำงาน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนในบริษัทและธุรกิจ Startups กลุ่มโลจิสติกส์หลายราย โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถทราบผลของการเจรจาภายในสิ้นปีนี้

สำหรับแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ ในปี 2564 ล่าสุดผู้ถือหน่วยทรัสต์ได้มีมติอนุมัติให้ทำการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินหลักครั้งที่ 7 จำนวน 3 โครงการ มูลค่าไม่เกิน 5,549.7 ล้านบาท ทรัพย์สินประกอบด้วยโครงการ WHA Mega Logistics Center (วังน้อย 62) โครงการ WHA Mega Logistics Center (ถนนบางนา-ตราด กม. 23 โปรเจค 3) และโครงการ WHA E-Commerce Park อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คิดเป็นพื้นที่รวม 184,329 ตารางเมตร โดยสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ของบริษัททั้งหมดและคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2564 ตามแผนงานที่วางไว้ รวมถึง บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) และสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Asset-backed Token) เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและการเติบโตในอนาคตของบริษัทฯ อีกด้วย


นอกจากนั้นเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัว “WHA Office Solutions” พื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับเวิร์ลคลาส บน 6 ทำเลที่มีศักยภาพสูงในกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ รวมพื้นที่สำนักงานให้เช่ากว่า 100,000 ตร.ม. ได้แก่ โครงการ WHA Tower, โครงการ SJ Infinite I, อาคารสำนักงาน @Premium, โครงการ WHA Bangna Business Complex, ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม TusPark WHA และโครงการ WHA KW S25 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม  6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 274 ไร่ (ไทย 241 ไร่/ เวียดนาม 33 ไร่) และยอดเซ็นต์ MOU รวม 83 ไร่ (เวียดนาม) โดยบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกรวม 691.8 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับรายได้ในไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 154.1 ล้านบาทแล้วรายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ของบริษัทฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 537.7 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะการลงทุนและการส่งออกของประเทศไทยในไตรมาสที่ผ่านมาที่เริ่มกลับมาส่งสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น ยุโรป จีนและไต้หวัน รวมถึงนักลงทุนอินเดียที่แสดงความสนใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น ภายหลังจากประเทศอินเดียต้องประสบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินทั้งสิ้น 33 ไร่ และยอด MOU 83 ไร่ เนื่องจากเขตนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 เหงะอานของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี บริษัทฯ จึงเร่งสานต่องานก่อสร้างในพื้นที่เฟส 1B ส่วนที่เหลือจำนวน 2,100 ไร่ พร้อมขยายการก่อสร้างในเฟส 2 และเฟส 3 คิดเป็นพื้นที่เพิ่มเติมอีก 4,700 ไร่ รวมถึงการดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตและการอนุมัติโครงการเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม 2 แห่งในจังหวัดถั่งหัว (Thanh Hoa) บนพื้นที่รวมกว่า 7,500 ไร่ ที่ยังคงดำเนินไปตามแผน โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเริ่มเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรม WHA Northern Industrial Zone และ WHA Smart Technology Industrial Zone ภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มเปิดให้บริการพื้นที่แก่นักลงทุนที่สนใจภายในปีหน้า ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์การผลิตและการกระจายวัคซีนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วงผ่านมาบริษัทฯ ก็ยังคงได้รับการติดต่อจากนักลงทุนที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ที่สนใจจำนวนมากกว่า 30 ราย คิดเป็นพื้นที่ขายรวมกว่า 2,000 ไร่ทั้งไทยและเวียดนาม ซึ่งหากการดำเนินการด้านวัคซีนของประเทศต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคต่อไป

บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ หรือ Smart ECO Industrial Estate ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ขนส่ง สื่อสาร ฯลฯ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้บริการ Digital Healthcare อย่างครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ พนักงาน/ แรงงาน และผู้อยู่อาศัยทั้งภายในและบริเวณโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ร่วมสนับสนุน บริษัท เพอเซ็ปทรา (Perceptra) สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสนามในการวินิจฉัยและตรวจรักษาโรคโควิด-19 อีกด้วย

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Control Center, “UOC”) ณ อาคาร WHA Tower สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทฯ พร้อมเปิดดำเนินการแบบเต็มรูปแบบแล้ว โดยศูนย์ UOC ดังกล่าวสามารถนำเสนอข้อมูล และติดตามผลการทำงาน รวมถึงได้ติดตั้งระบบเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการปฏิบัติงานประจำวันหรือในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยระบบดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้รับผิดชอบที่ศูนย์ UOC รวมถึงแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคว่า ผลประกอบการของธุรกิจน้ำในไตรมาสที่ผ่านมามีความโดดเด่น โดยบริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งหมดในประเทศไทยและต่างประเทศในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 รวมเท่ากับ 35.2 ลูกบาศก์เมตร และ 67.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 595.8 และ 1,182.1 ล้านบาท ตามลำดับ

ปริมาณยอดขายน้ำในประเทศมีการเติบโตดีขึ้นสำหรับทุกประเภทผลิตภัณฑ์ โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวนเท่ากับ 29.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 56.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 27.3% และ 16.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตดังกล่าวสะท้อนความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมในทุกอุตสาหกรรม และกลุ่มลูกค้าใหม่ในกลุ่มปิโตรเคมี อาทิ GC Oxirane ที่เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ช่วงปลายปีและมีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือลูกค้าโรงไฟฟ้า อาทิ Gulf SRC ที่ขยายกำลังการผลิตทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 12,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมถึงยังสะท้อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย