͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการวัคซีนยุโรปช้าแต่ชัวร์ ยอดผู้ฉีดพลิกแซงหน้าอเมริกา  (อ่าน 163 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ luktan1479

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 16766
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


เอพี - แม้เริ่มต้นตะกุกตะกัก แต่ตอนนี้จำนวนผู้เข้าโครงการฉีดวัคซีนโควิดของอียูแซงหน้าอเมริกาไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อโครงการใบรับรองสุขภาพที่บังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีนทางอ้อมอาจช่วยให้ยุโรปรอดพ้นจากการระบาดระลอกใหม่ที่อเมริกากำลังเผชิญอยู่ และรอดพ้นจากการล็อกดาวน์ซึ่งเศรษฐกิจอียูไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป

กลางเดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนไม่ถึง 4% ใน 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อยหนึ่งเข็ม เทียบกับเกือบ 12% ในอเมริกา ทั้งนี้ จากข้อมูลของอาวร์ เวิลด์ อิน ดาตา เว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่ล่าสุด ชาวยุโรปราว 60% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม เทียบกับไม่ถึง 58% ในอเมริกา

ความสำเร็จยิ่งชัดเจนในอิตาลีที่ประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไปถึงราว 63% ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และนายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ประกาศว่า อิตาลีฉีดวัคซีนให้ประชาชนต่อ 100 คนมากกว่าในฝรั่งเศส เยอรมนี และอเมริกา

นอกจากนั้น เมื่อวันศุกร์ (6 ส.ค.) ประเทศนี้ยังเริ่มบังคับให้ประชาชนต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หายป่วยหรือตรวจโควิดได้ผลเป็นลบเมื่อเร็วๆ นี้ หากต้องการเข้าสู่สถานที่สาธารณะในอาคาร ฟิตเนส ดูคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ ละคร และไปเที่ยวสถานที่สำคัญ เช่น โคลอสเซียม

ดร.ปีเตอร์ ลีส สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนี บอกว่า กระบวนการอนุมัติวัคซีนที่ล่าช้าอาจทำให้โครงการฉีดวัคซีนของอียูคืบหน้าช้ากว่าอเมริกาและอังกฤษนานหลายสัปดาห์ในช่วงแรก แต่ตอนนี้กระบวนการดังกล่าวส่งผลดีอย่างชัดเจนในแง่ที่ทำให้ประชาชนมั่นใจและกล้าฉีดวัคซีน อีกทั้งสะท้อนว่า ไม่ใช่แค่ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในช่วงไม่กี่เดือนแรกเท่านั้น แต่กลยุทธ์ระยะยาวก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างยังปรากฏชัดเจนในสเปนที่เมื่อกลางเดือนเมษายนยังมีประชาชนแค่ 7% ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ขณะที่ตัวเลขของอเมริกาอยู่ที่เกือบ 25% แต่มาถึงตอนนี้ชาวสเปนเกือบ 60% ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนของอเมริกาเพิ่งได้ 50%

ความพยายามในการฉีดวัคซีนของอียูเริ่มต้นช่วงคริสต์มาสปีที่แล้วพร้อมๆ กับอเมริกา และมีปัญหาในการตอบสนองความต้องการของประชาชนในระยะแรก และกลายเป็นความอับอายทางการเมืองครั้งใหญ่สำหรับเจ้าหน้าที่ยุโรปเมื่อได้เห็นโครงการของอเมริกาและอังกฤษเร่งเครื่องทิ้งห่าง

จิโอวานนา เดอ ไมโญ นักวิชาการอาคันตุกะด้านวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ชี้ว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของอียูในช่วงแรกคือ การตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนแบบพร้อมกันทั้งกลุ่ม แทนที่จะให้แต่ละชาติสมาชิกสั่งซื้อกันเอง เนื่องจากกลัวว่า ประเทศขนาดเล็กจะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน แต่กลายเป็นว่า ต้องใช้เวลาเจรจากับบริษัทยานานขึ้น

ขณะเดียวกัน อเมริกาแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยการรีบเร่งตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังส่งวัคซีนให้ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เกต และสถานที่อื่นๆ จัดการฉีดให้ประชาชน ขณะที่อียูเน้นการฉีดในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลอื่นๆ เท่านั้นในช่วงแรก

นอกจากนั้น ชาติสมาชิกอียูยังมั่นใจเกินไปว่า ผู้ผลิตจะจัดส่งวัคซีนให้ตามกำหนด ผลปรากฏว่า แอสตร้าเซนเนก้าผลิตไม่ทันและจัดส่งให้บางส่วนเท่านั้น ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ยังทำให้คนไม่กล้าฉีด แต่หลังจากได้วัคซีนไฟเซอร์ล็อตใหญ่ สถานการณ์ก็คลี่คลายอย่างชัดเจน

ในทางกลับกัน โครงการฉีดวัคซีนของอเมริกาคืบหน้าถึงขีดสุดและดิ่งลงจากความลังเลและการต่อต้านอันเป็นผลจากการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และความแตกแยกทางการเมือง

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม อเมริกาฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละไม่ถึง 600,000 โดส จากสถิติสูงสุด 3.4 ล้านโดสในเดือนเมษายน และการระบาดอย่างรุนแรงของสายพันธุ์เดลตาทำให้จำนวนเคสใหม่รายวันในเดือนที่ผ่านมาพุ่งสูงสุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ และผู้ป่วยอาการหนักส่วนใหญ่คือผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ถึงกระนั้น ใช่ว่าทุกอย่างในอียูราบรื่นทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่น ในเนเธอร์แลนด์นั้นประชากรวัยผู้ใหญ่ 85% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส แต่ที่บัลแกเรียตัวเลขอยู่ที่เพียงไม่ถึง 20% นอกจากนี้ยังปรากฏสัญญาณว่า โครงการฉีดวัคซีนของยุโรปเริ่มแผ่วลงเช่นกัน

ที่เยอรมนีที่ประชากร 54% ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ทว่า สถิติการฉีดวัคซีนต่อวันกลับลดจากกว่า 1 ล้านเข็มในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ราว 500,000 เข็มในขณะนี้

เจ้าหน้าที่เมืองเบียร์ต้องเริ่มรณรงค์โดยเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีนในเมกะสโตร์ รวมทั้งออกมาตรการจูงใจ เช่น รัฐเทือริงเงินแจกไส้กรอก ขณะที่เบอร์ลินจัดดีเจเปิดเพลงในสถานที่ฉีดในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อดึงดูดหนุ่มสาว

เดอ ไมโญเชื่อว่า โครงการใบรับรองสุขภาพแบบอิตาลีจะช่วยให้อียูไม่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับอเมริกาที่โควิดกลับมาระบาดหนัก เพราะเศรษฐกิจยุโรปไม่สามารถรองรับการล็อกดาวน์ได้อีกต่อไป