͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ไขมันในเลือดสูง' ภัยเงียบที่ควรระวัง  (อ่าน 153 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Naprapats

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14930
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด



โรคไขมันในเลือดสูง” เป็นโรคหนึ่งที่นำไปสู่โรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากการมีไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ตามปกติ จึงเป็นอีกโรคที่ควรรู้จัก เพื่อจะได้หาทางป้องกันและดูแลตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ

โรคไขมันในเลือดผิดปกติ คืออะไร

ตามปกติในการตรวจเลือดจะมีการวัดระดับไขมันหลักๆ 4 ตัว คือ คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นตํ่า หรือไขมันเลว (Low Density Lipoprotein : LDL) และไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือไขมันดี (High Density Lipoprotein : HDL)

การที่จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คนคนนั้นจะต้องมีระดับคอเลสเตอรอลรวมมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีระดับไขมันเลว (LDL) มากกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีระดับไขมันดี (HDL) น้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่การพิจารณาการให้ยาลดไขมันนั้น แพทย์มักจะตัดสินจากระดับไขมัน LDL รวมถึงระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่าระดับคอเลสเตอรอลรวม


นอกจากนี้ ในคนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น คนไข้โรคเบาหวาน คนที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อน ควรรักษาระดับไขมันเลว (LDL) ให้น้อยกว่า 100 ลงไปอีก จึงจะป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงหลักของการเป็นโรคไขมันในเลือดสูง คือ กรรมพันธุ์และอาหาร ส่วนน้อยอาจเกิดจากโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน การขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เบาหวาน เป็นต้น

อาหารที่มีผลให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เช่น เนื้อสัตว์แดงติดมัน เครื่องในและไขมันจากสัตว์ อาหารที่ใช้น้ำมันผัด ของทอดต่างๆ ปลาหมึก หอยนางรม รวมทั้งอาหารที่มีไขมันทรานส์ซึ่งอยู่ในมาการีน หรือเนยเทียมที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เช่น โดนัท พิซซ่า เฟรนช์ฟราย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง คือ การกินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมากๆ เช่น เครื่องดื่มบรรจุขวดต่างๆ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลฟรุกโตส รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย


นอกจากนี้ หากพบว่ามีกรรมพันธุ์ในเรื่องของไขมันในเลือดสูงก็จะยากที่จะลดด้วยการคุมอาหารเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องกินยาช่วย เพราะระดับไขมันจะสูงมาก จนสามารถทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันได้ตั้งแต่คนไข้อายุยังน้อย

อาการ

โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภัยเงียบที่ในระยะแรกไม่มีอาการ หากไม่ได้ตรวจเลือด ก็จะไม่ทราบเลยว่ามีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา สุดท้ายจะมีอาการที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตันในที่สุด แต่ในผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก คือ เกิน 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจก่อให้เกิดอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย โดยคนไข้จะมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที

การวินิจฉัย

วินิจฉัยโดยดูจากผลเลือด โดยก่อนเจาะเลือดควรงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลเลือดที่ถูกต้อง

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

การที่ร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่าปกติ จะส่งผลให้มีไขมันไปเกาะตามผนังของหลอดเลือด ทำให้เลือดที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ น้อยลง โดยเฉพาะหัวใจและสมอง ซึ่งไขมันนี้จะค่อยๆ ก่อตัวและหนาขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจเลือดประจำปี ก็จะไม่รู้ว่ามีไขมันในเลือดสูง ดังนั้นในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กระดับไขมันในเลือดของตนเอง หากพบว่าสูง จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที


การรักษาและการป้องกัน

การรักษาหลัก คือ การใช้ยาลดไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกชนิดและขนาดของยา ตามระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบในคนไข้แต่ละราย นอกจากนี้คนไข้จะต้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน กล่าวคือ หลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันผัดทอด เปลี่ยนไปกินอาหารต้ม นึ่ง ย่าง ตุ๋นแทน หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์แดงติดมัน รวมทั้งไขมันอิ่มตัว เปลี่ยนเป็นกินอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไม่กินอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ลดเครื่องดื่มรสหวานทุกชนิด ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดกินอาหารแช่แข็ง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงอย่างปลาหมึก ไข่ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น

นอกจากการกินที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแล้ว ยังจะต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กระดับไขมันในเลือดของตนเองว่าสูงหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี เพื่อจะได้เตรียมการรักษาได้ทันท่วงที การเลิกสูบบุหรี่ การควบคุมอาหาร และลดน้ำหนักในคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน สามารถช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มไขมันตัวดีได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเรากินอาหารประเภทไขมันให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ รักษาระดับน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ห่างไกลจากภาวะไขมันในเลือดสูงได้

@@@@@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล