͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: 'อย่าทำธุรกิจบนชีวิตคน!' เมื่อผู้ป่วย ‘โควิด’ ทวงสิทธิ์การรักษาในสถานพยาบาลบางแห่ง  (อ่าน 170 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ deam205

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 15570
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


จะเพราะจุดพีคของสถานการณ์ โควิด-19 มาถึงไวเกินควร หรือการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ประเทศไทยได้เดินมาถึงภาวะที่หลายคนกลัวแล้ว นั่นคือจะต้องมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล หลายชีวิตต้องลุ้นตั้งแต่การได้เตียงและการรักษา แม้กระทั่งลุ้นว่าจะได้มีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่

ต้องยอมรับว่าเรื่อง “เตียงไม่พอ” คือข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่บางคนรับไม่ได้คือการ “รอเตียง” ที่อาจเป็นการ “รอตาย” เนื่องจากสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหาเชื้อ “โควิด-19” ของเอกชนบางแห่งใช้ความเป็นความตายของผู้คนเพื่อหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ

“จนท.รพ.หรือแล็บไหนไม่ให้ผลตรวจกับผู้ติดเชื้อ หรือ ขู่ว่าถ้าเอาไป หาเตียงที่อื่นจะตัดออกจากคิวรักษา บอก #เส้นด้าย เราจะพาไปแจ้งความฐานกระทำโดยงดเว้น = พยายามฆ่า

หรือ พยายามทำร้าย (ป.อ.มาตรา 59 วรรค 2,80,288หรือ 295)” คือข้อความในเพจของกลุ่ม เส้นด้าย ที่โพสต์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.51 น. หลังจากนั้นคือคอมเมนต์ทั้งแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์กระหน่ำหลายร้อยข้อความ สะท้อนถึงปัญหาที่คล้ายซ้ำเติมวิกฤตนี้ให้หนักหนาขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ต้องเข้าใจก่อนว่ามีธุรกิจซ่อนอยู่ในโควิด” ภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย จั่วหัวให้จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฟังหลังจากเขาและเส้นด้ายได้รับการร้องเรียนพร้อมเสียงร่ำไห้ของผู้ป่วยที่สิ้นไร้หนทางแต่มิหนำซ้ำยังถูกปิดประตูความหวังด้วยวิธีการหารายได้ของสถานพยาบาลบางแห่งมาแล้วแทบทุกวัน

ภูวกรเล่าต่อว่าการที่ค่าใช้จ่ายของ Hospitel อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ แต่มีกติกาว่า ตรวจกับสถานพยาบาลใด สถานพยาบาลนั้นจะต้องรับผิดชอบการรักษา กลายเป็นช่องโหว่ให้บางสถานพยาบาลมองผู้ป่วยเป็นกำไร จากปัญหาในช่วงแรกที่เกิดหลายกรณีที่สถานพยาบาลไม่กล้ารับผู้ป่วยเข้ารักษาเพราะตอนนั้นยังไม่มีความแน่นอนว่าเมื่อรับผู้ป่วยแล้ว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทว่าปัญหาดังกล่าวกลับตาลปัตรเป็นการยื้อคนไข้ โดยเฉพาะกลุ่มสีเขียว ซึ่งมีอาการน้อยและรักษาง่าย จากคนไข้จึงเปรียบเสมือน “ลูกค้า”

“ภาวะเตียงเต็มที่เกิดกับทุกสถานพยาบาล ทำให้บางแห่งเหนี่ยวรั้งไม่ให้ผลตรวจแก่ผู้ป่วย เพราะถึงเขาจะรับคนไข้คนนี้มารับการรักษาไม่ได้ แต่ส่งผลตรวจให้ เกิดคนนี้เอาผลไปที่อื่น เขาเลยไม่ให้ผลตรวจ รอฉันว่างก่อน ฉันค่อยเรียกคุณมา การที่ไม่ให้ผลตรวจคือคุณไปไหนไม่ได้ ต้องรอฉันแม้คุณจะป่วย มันเกิดเรื่องนี้ขึ้น แล้วคนงงมากว่าทำไมไม่ให้ผลตรวจ คนร้องเรียนเรามาเยอะมาก จนเราเข้าใจกุญแจของเรื่องนี้ว่ามันเป็นเพราะแบบนี้”

อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายเปิดเผยถึงกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ว่ามีคนโทรมาหาเลขาของเขาว่าหลังจากขอผลตรวจไปเพื่อหาเตียงจากแหล่งอื่นๆ ระหว่างรอเตียงของสถานพยาบาลที่ตรวจผ่านกลุ่มเส้นด้าย นอกจากสถานพยาบาลจะบ่ายเบี่ยงไม่ให้ผลตรวจ คนไข้ยังถูกขู่ว่าหากเอาผลไปให้เส้นด้าย จะถูกตัดออกจากคิวรอเตียงทันที

“เขารอคิวของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนั้นขู่เขามาว่าถ้าเกิดเอาผลมาให้เลขาผมเพื่อหาเตียงจากที่อื่น คิวนี้ที่คาอยู่จะถูกตัดออกไป ถามว่ามันเป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือเปล่าที่จะไปหาที่รักษาที่อื่น ตอนนี้มีผู้ป่วยค้างอยู่บางคนรอผล 5 วัน แล้วยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 วันไปตามผลตรวจอีก ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะไม่พลิกเป็นเหลือง ไม่พลิกเป็นแดงได้อย่างไร

ถ้าอ่านแชทที่ผมคุยกับบางเคส ไม่ได้ค่ะ ทำอย่างไรก็ไม่ยอมให้ พยายามแล้วค่ะ เขาบอกว่าถ้าเราเอาผลมาให้คุณอภิวัฒน์แล้วเขาจะตัดสิทธิ์ดิฉันออกจากของทางนั้น แล้วคุณอภิวัฒน์หาเตียงได้จริงใช่ไหมคะ ถ้าหาได้จริงจะรีบขอมา ผมก็อ้าว ทีนี้ผมแบกรับหนักกว่าเดิมอีก ซึ่งการอนุมัติรับคนไข้ของหลายแห่งก็ผีเข้าผีออก บางวันให้เยอะ บางวันให้น้อย บางวันไม่ให้เลย”

แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยอมรับว่ามีบางแห่งต้องชื่นชม เพราะแค่ขอเอกสารผลตรวจ เพียงหนึ่งชั่วโมงก็ได้รับแล้ว


ความไม่เป็นธรรมท่ามกลางวินาทีชีวิตแบบนี้ ทำให้นักกฎหมายอาสาและหนึ่งในทีมงานเส้นด้ายอย่าง พีรพล กนกวลัย ต้องออกโรงมาช่วยชี้ช่องให้ผู้ป่วยที่กำลังถูกสถานพยาบาลเล่นแง่

“ไม่ว่าจะตรวจเชิงรุกหรือตรวจทางการ ผลการตรวจควรจะให้ผู้ที่ไปตรวจรับทราบข้อมูล แต่โรงพยาบาลหรือผู้ที่ไปตรวจเชิงรุกนั้นปิดบังผลตรวจ เพื่อเก็บเกี่ยวเคสสีเขียวไปรักษาเอง ซึ่งในบ้านหนึ่งบางทีมี 10 คน ถ้าเป็นคนที่ติดโควิดเป็นหนุ่มสาวเขาก็เอาไปรักษา แต่ปล่อยให้ผู้สูงอายุนอนอยู่บ้าน เด็กนอนอยู่บ้าน แล้วไม่เอาไปสักที ให้เขารอทั้งที่เขารู้ว่าติดแล้วนะ แต่ไม่เอาใบผลตรวจให้เขาเพื่อที่เขาจะมีทางเลือกทางอื่น ถ้าเกิน 48 ชั่วโมง ผมเชื่อว่าคือการปิดบังข้อมูลเพื่อกันไม่ให้คนอื่นมารักษา เป็นผลประโยชน์ทั้งนั้น

ตรวจหนึ่งครั้งก็ 1,600 แล้ว รักษาหนึ่งคนต่อหนึ่งห้อง Hospitel ก็ 3,000 แล้ว ผมว่าเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโควิดแบบนี้มันไม่โอเค เป็นการทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์รักษาที่อื่นไม่มีผลตรวจ ที่อื่นก็รับรักษาไม่ได้ ดังนั้นเขาถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม”

ตามข้อเท็จจริง การส่งผลตรวจให้ผู้ป่วยได้นำไปเพื่อหาทางรักษาต่ออาจหมายถึงจรรยาบรรณแพทย์ด้วยซ้ำ แม้ไปไม่ถึงคุณธรรมเหล่านั้นอย่างน้อยก็คือหน้าที่การงานที่สถานพยาบาลต้องทำอยู่แล้ว และเอกสารผลตรวจก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในฐานข้อมูล จะพิมพ์ออกมาส่งให้ผู้ป่วยที่นอนรอความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ก็นับว่าไม่น่าจะยากหรือวุ่นวายเกินไปนัก จึงเป็นที่มาของวิธีการตอบโต้ที่ภูวกรแนะนำให้ทำในเบื้องต้นก่อนหากถูกปฏิเสธ

“โดยหลักการคือต้องโทรไปขอเอกสารผลตรวจ แต่ถ้าโทรไปแล้วไม่ได้ก็ต้องไปหาด้วยตัวเอง ไปคุยต่อหน้า ไปคุยให้ชัด แต่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่รู้สิทธิ พอเขาขู่มาว่าจะตัดสิทธิ์คุณ จริงๆ เขาตัดไม่ได้ เส้นด้ายถึงไปโพสต์ไงว่าเดี๋ยวจะฟ้องให้ มีคนแคปเจอร์ไปให้โรงพยาบาลดูแล้วได้ผลด้วย”

มีตัวอย่างที่อภิวัฒน์เล่าว่าหลังจากที่เส้นด้ายโพสต์เรื่องจะช่วยฟ้องสถานพยาบาลที่ไม่ให้ผลตรวจ มีคนขอผลตรวจแล้วสถานพยาบาลตอบกลับมาว่ารอเตียง 3 วัน แต่ถ้าอยากได้ผลตรวจต้องรอ 5 วัน เขาก็เอาที่พวกเราโพสต์ส่งไป สักพักสถานพยาบาลนั้นส่งผลตรวจให้เขา นั่นหมายความว่าไฟล์ผลตรวจมีอยู่ในมือเพียงแต่จะส่งหรือไม่ส่งก็เท่านั้นเอง

ในแง่กฎหมาย การกระทำของสถานพยาบาลที่ไร้คุณธรรม พีรพลอธิบายในมุมของนักกฎหมายว่าเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย

“คนที่โดนกระทำผมบอกให้มอบอำนาจมา ผมจะไปแจ้งความดำเนินคดีให้ ว่าสถานพยาบาลแบบนั้นมีความผิดปิดบังข้อมูล อาจจะเป็นพยายามฆ่าเลยก็ได้ เพราะคุณไม่ให้ผลตรวจ เขาจะไปรักษาที่อื่นก็ไม่ได้ แล้วถ้าเขาตายขึ้นมาเท่ากับคุณเจตนาให้เขาตาย เรื่องนี้สังคมควรรับรู้ว่าแล็บที่มาตรวจอย่าเห็นแก่ตัวมาก คุณได้จากโควิดพอแล้ว

หากต้องฟ้องจริงๆ คือแจ้งความดำเนินคดีปิดบังข้อมูล เป็นการผิดกฎหมายอาญาและน่าจะเป็นละเมิดได้ด้วยครับ แต่พอเราโพสต์ในเพจเส้นด้ายว่าใครจะมอบอำนาจมาให้ผม ซึ่งบางส่วนก็มอบอำนาจมาแล้ว แต่ส่วนราชการที่รู้เขาก็รีบเอาผลตรวจให้เลยทันที อย่างในเขตที่ผมอยู่ไม่มีเลย แต่ผมเชื่อว่าพื้นที่อื่นยังมีอีกมาก”

การขู่ฟ้องกลับอันเป็นมาตรการตอบโต้ของประชาชนที่พอทำได้ ถึงตอนนี้จะทำให้ยังไม่เกิดกรณีที่ต้องฟ้องร้องจริงเพราะสถานพยาบาลส่งผลตรวจให้ก่อนเกิดคดีความ แต่ก่อนหน้านี้มีกี่ชีวิตที่สูญเสียจากความไม่รู้สิทธิของตัวเอง สำหรับสถานพยาบาลที่ยังขู่ตัดสิทธิรอเตียงของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งกั๊กผลตรวจเพราะกลัวเสียรายได้ ภูวกรบอกว่า “นี่คือการค้าความตาย!”