การเริ่มต้นอาชีพใหม่หลังวัยเกษียณเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนเริ่มมองหา โดยเฉลี่ยวัยเกษียณของไทยจะอยู่ที่อายุ 55-60 ปี แต่ปัจจุบันหลายคนเริ่มวางแผนเกษียณตัวเร็วขึ้น เพราะอยากใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองคิด และวางแผนไว้ เมื่อถึงวัยเกษียณหลายคนจึงคงมองหาอาชีพใหม่ๆ เพื่อลดทอนความเหงาที่เกาะกินเวลาที่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) โดยสัดส่วนผู้สูงอายุมีถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุกว่า 20 ล้านคน หรือราว 31% ของประชากรไทย
Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญกับทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Nation ที่เป็นพื้นที่ของทุกคน และส่งเสริมความรู้สึกการมีคุณค่าให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ Sea (ประเทศไทย) จึงได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และยังแฮปปี้ (YoungHappy) ขยายโอกาสการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อปี 2564 ได้จัดทำคอร์สออนไลน์ 'ขายได้ขายดีกับ Shopee' เวิร์กช็อปแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ประกอบการออนไลน์วัยเก๋าสามารถสร้างยอดเข้าชมรวมมากถึง 8,845 ครั้ง และมียอดขายรวมทุกร้านกว่า 20,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 - 2 สัปดาห์หลังเปิดร้าน สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุของไทยยังคงมีศักยภาพในการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี และสามารถพัฒนาตัวเองจากนักช้อปสู่ผู้ประกอบการออนไลน์วัยเก๋าที่สร้างรายได้ในช่วงวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี
นางพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า 'จากความสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา ปีนี้ Sea (ประเทศไทย) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และยังแฮปปี้ (YoungHappy) ได้เดินหน้าเปิดตัวความร่วมมือ 'อัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า' พร้อมออกหลักสูตร 'Happy Learn - ช้อปง่ายขายคล่องที่ช้อปปี้ ฉบับวัยเก๋า' หลักสูตรอีคอมเมิร์ซที่ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนสูงอายุโดยเฉพาะ รวมถึงหนังสือคู่มือเพื่อทำให้การเป็นผู้ประกอบการวัยเก๋าเป็นเรื่องเข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายอบรม 'Senior Digital Ambassador' ที่นอกจากจะสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้แล้วยังสามารถแบ่งปันความรู้จากการอบรมให้เกิดคอมมูนิตี้ในกลุ่มวัยเกษียณด้วยกัน'
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ต่างเร่งผลักดันให้ทุกคนล้วนต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี วัยเกษียณหลายคนจึงเริ่มศึกษาเทคโนโลยี และช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ เพราะสามารถทำได้ที่บ้าน และไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมีเพียงคอมพิวเตอร์หรือมือถือหนึ่งเครื่อง พร้อมกับสกิลการถ่ายภาพ ตกแต่งภาพ การเขียนคอนเทนต์ การโพสต์ข้อความ การพูดคุยกับลูกค้า ฯลฯ ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตวัยเกษียณไม่ให้เหงาอีกต่อไป และบางรายสามารถสร้างรายได้จากการขายออนไลน์ไม่แตกต่างจากการทำงานเลยทีเดียว
จากสี่ตัวอย่างผู้ประกอบการวัยเก๋า ที่วันนี้ประสบความสำเร็จในการแจ้งเกิดเป็นผู้ประกอบการเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า แม้อายุจะมากแต่ก็ไม่สายเกินไปที่จะมีธุรกิจของตัวเอง อย่าง คุณสุภา สว่าง อายุ 52 ปี ร้าน Enjoy_Eating จำหน่ายน้ำพริกน้ำย้อย เล่าว่า 'สำหรับคนวัยเก๋าอย่างเรา การขายของออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม และไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่ากลัว อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ และทำความเข้าใจเทคโนโลยี เราเดินช้าแต่เราก็ยังมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด'
คุณมาโนช บุญรัตน์ อายุ 54 ปี ร้าน North Hill Coffee & Tea จำหน่ายเมล็ดกาแฟคั่วบด เล่าว่า 'เดิมทีเรามีการวางแผนรายได้ดีแล้ว มีตึกแถวให้เช่า มีเงินเก็บเล็กน้อย ทุกเดือนก็มีค่าเช่า รับจ๊อบบ้าง พอโควิด-19 มาคนจีนที่เช่าก็หายไป เงินเก็บก็หายไป เราก็ต้องคิดต่อว่าวางแผนยังไงดี ผมสนใจเรื่องกาแฟเลยลงทุนเรื่องกาแฟ ตอนแรกก็ขายให้กับเพื่อนๆ แต่มันไม่ยั่งยืนเพราะไม่ใช่ยอดขายที่แท้จริง เลยอยากไปขายลูกค้าทั่วไปในวงกว้างมากขึ้น เรียนคอร์สนี้สนุกมาก ทำให้เราลุกขึ้นมาได้ ทำให้เราได้พัฒนาสมองมากขึ้นด้วย มีการคิดทำคอนเทนต์วีดีโอ ดูเนื้อหาการขาย พอมีคนซื้อก็มีกำลังใจมากขึ้น ตอนนี้ผมมีรายได้จาก Shopee เข้ามา อาจจะยังไม่เยอะ แต่มีค่ามากเลยครับ ทักษะดิจิทัลกับวัยเก๋าหนีกันไม่พ้น ไหนๆ เราก็ต้องเจอกับมันแล้ว เราก็พัฒนาตัวเองไปหามันก่อนเลย ทั้งยังเอามาช่วยเหลือคนอื่นเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่ดีได้อีกด้วย'
คุณวรรณทนีย์ ชูแก้ว อายุ 69 ปี ร้าน Uncle_kite จำหน่ายว่าวจุฬาจิ๋ว เล่าว่า 'ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจขายของ เพราะไม่เคยขายอะไร แต่พอมาเรียนก็ลองเอาของสะสมของคนในบ้านมาขาย ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว คนในบ้านมีกิจกรรมมากขึ้น เขามีจุดหมายในชีวิต เราเป็นคนขาย เขาเป็นคนทำ การเรียนทำให้เรารู้ว่าโทรศัพท์ทำได้มากกว่าโทรเข้า โทรออก และไลน์ ตอนนี้เราทำ YouTube ขายของเป็น เพื่อนๆ ก็จะมาให้สอนบ้าง เราต้องเปิดใจกว้างที่จะรับรู้จากคนรุ่นใหม่ อายุไม่ใช่อุปสรรคที่เราจะเรียนรู้'
คุณสุธาสินี ทรัพย์วงศ์ อายุ 64 ปี ร้าน Kru_bee64 จำหน่ายกระเป๋ากระจูด เล่าว่า 'ประเด็นที่เข้ามาเรียน เพราะอยากรู้ว่าเขาขายกันยังไงในระบบ Shopee ช่วงโควิด-19 เงินเราจมอยู่กับกระเป๋ากระจูดประมาณ 30,000 บาท เราไปขายที่งาน OTOP ไม่ได้ ก็คิดอยากระบายสินค้าออก การขายของทำให้เราหายเหงา ช่วยพัฒนาสมอง สุขภาพไม่ทรุดโทรม วัยเก๋าไม่ใช่ว่าแก่แล้วแก่เลย คุณสามารถเรียนรู้ปรับตัวตามลูกหลานได้ ไม่ต้องไปวัด สวดมนต์อย่างเดียว ตอนนี้ทำออนไลน์ได้หมด อยากให้เปิดใจเรียนรู้'
จากความสำเร็จของวัยเก๋ารุ่นหนึ่ง เตรียมพร้อมส่งต่อความสำเร็จให้กับวัยเก๋ารุ่นสองที่เปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการวัยเก๋า สำหรับวัยเก๋าท่านใดที่สนใจเข้าร่วมหลักสูตร สามารถสมัครเรียนได้ที่
https://learn.younghappy.com/course/38 พิเศษสำหรับผู้สมัคร 500 ท่านแรกจะได้รับคู่มือนักขายวัยเก๋า ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือเจาะลึกรายละเอียดการเปิดร้านค้าแบบทุกขั้นตอน พร้อมภาพประกอบเข้าใจง่าย และเคล็ดลับขายดีบน Shopee ทั้งยังมีคลังคำศัพท์เฉพาะทางสำหรับร้านค้าออนไลน์และคำถามที่พบบ่อยที่รวบรวมไว้ให้ภายในเล่มคู่มืออย่างครบครัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการวัยเก๋าได้ศึกษา และต่อยอดร้านค้าของตัวเองภายใต้การช่วยดูแลจากทีมงานที่พร้อมพาวัยเก๋าทุกท่านสู่การเป็นผู้ประกอบการ
เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน รวมถึงวัยเก๋า การใส่เกียร์เดินหน้าท้าชนเทคโนโลยี ทำความรู้จักและนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ เปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน น่าจะช่วยคลายเหงา ทำให้ชีวิตวัยเกษียณมีสีสันและมีคุณค่า และสามารถใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างมีความสุขกว่าที่เคย