พาณิชย์ เผยการค้าชายแดน-ผ่านแดนปี 64 โต 30% ตั้งเป้าปี 65 โต 5-7%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึง
ภาพรวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนธันวาคม 2564 และทั้งปี 2564 ว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่ารวมคิดเป็น 141,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.92% โดยตัวเลขส่งออก มีมูลค่ารวม 83,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.31%
สำหรับการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนใน 7 ประเทศสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้ 1.มาเลเซีย ส่งออกเพิ่มขึ้น 24.84% มูลค่า 17,223 ล้านบาท 2.กัมพูชา เพิ่มขึ้น 27.26% มูลค่า 13,151 ล้านบาท 3.เมียนมา เพิ่มขึ้น 53.54% มูลค่า 12,762 ล้านบาท 4.สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 23.13% มูลค่า 12,332 ล้านบาท 5.จีน ลดลง 15.12% มูลค่าส่งออก 9,290 ล้านบาท 6.สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 32.99% มูลค่า 3,565 ล้านบาท 7.เวียดนาม เพิ่มขึ้น 148.32 % มูลค่า 4,227 ล้านบาท
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน รวมทั้งปี 2564 มีมูลค่าการค้า 1,715,345 ล้านบาท หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.03% โดยการส่งออก เพิ่มขึ้น 34.6% คิดเป็นมูลค่า 1,031,330 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขทั้งปีส่งออกทั้งปี 64 ของไทย มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท ผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนในประเทศเพื่อนบ้านถึง 1 ล้านล้านบาท
"การค้าชายแดนและผ่านแดนปี 64 เกินกว่าเป้าที่กำหนดที่ 6% และโตกว่าปี 63 ถึง 34.6% ประมาณ 5-6 เท่าของเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่า 265,118 ล้านบาท" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุ
ตัวเลขส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนทั้งปี 64 นั้น 1.สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 39.31% คิดเป็นมูลค่า 417,731 ล้านบาท 2.มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 42.6% คิดเป็นมูลค่า 346,603 ล้านบาท 3.เมียนมา เพิ่มขึ้น 109.24% คิดเป็นมูลค่า 122,086 ล้านบาท 4.กัมพูชา เพิ่มขึ้น 16.63% คิดเป็นมูลค่า 144,910 ล้านบาท 5.จีน เพิ่มขึ้น 59.71% คิดเป็นมูลค่า 194,820 ล้านบาท 6.สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 51.49% คิดเป็นมูลค่า 53,853 ล้านบาท 7.เวียดนาม เพิ่มขึ้น 5.03% คิดเป็นมูลค่า 46,308 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในปี 65 จากการหารือร่วมกันกับภาคเอกชน ได้ข้อสรุปจะตั้งเป้าการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนไว้ที่ 5-7% คิดเป็นเฉพาะมูลค่าการส่งออกที่ราว 1.08 - 1.10 ล้านล้านบาท
ปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้การส่งออกเติบโตได้ในปี 65 สำหรับการค้าชายแดนและผ่านแดน คือ
1.จากการประเมินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง
2.จากการคาดการณ์เรื่องค่าเงินบาทยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 64 ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประเทศคู่ค้าได้
3.คาดว่าในปี 65 ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางให้บริการรถไฟลาว-จีน ได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ไปจีนสะดวกมากขึ้น
4.การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ในรูป กรอ.พาณิชย์ หรือวอรูมการส่งออกยังเดินหน้าต่อไป
5.นโยบายเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่าน เปิดแล้ว 48 ด้าน และมีเป้าหมายเปิดปี 65 อีก 12 ด่าน ซึ่งจะเร่งรัดต่อไป ได้แก่
จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง
จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย, บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย, บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย
จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย, ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง, ท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม อ.เมือง, บ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี
ช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น อ.เมืองจ.ตราด
ด่านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว
อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนและผ่านแดน ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรก สถานการณ์โควิดโอมิครอน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปิดปิดด่านและการจราจรส่งออกสินค้าผ่านแดน-ข้ามแดน เพราะอาจมีความเข้มงวดในการตรวจโรคมากขึ้น ประเด็นที่สอง สถานการณ์การเมืองเศรษฐกิจในเมียนมา อาจมีผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปเมียนมาได้ โดยเฉพาะนโยบายการลดการใช้เงินตราต่างประเทศของเมียนมา เพื่อควบคุมการนำเข้าเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของเมียนมา