สบน. เปิดหนี้รัฐบาล ณ สิ้นปีงบ 65 จะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้าน คิดเป็นหนี้สาธารณะ 62% ของจีดีพี ขณะที่ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน ล่าสุดเหลือให้อนุมัติกู้ได้อีกเพียง 2.63 แสนล้าน ส่วนจะออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ ต้องรอนโยบายจากรัฐบาล
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะมีหนี้รวม 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กู้แล้ว 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะแล้ว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สาธารณะมีสัดส่วนอยู่ที่ 57.98% ของจีดีพี และหนี้ที่รัฐบาลจะต้องกู้ใหม่ในปีงบฯ 2565 รวม 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุงบประมาณวงเงิน 7 แสนล้านบาท การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท และการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรา 22 ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ วงเงินประมาณอีก 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี
ขณะที่แผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 จะใช้เครื่องมือในทุกๆ เครื่องมือ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งก็ยังใช้พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่อมือหลัก ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 3-50 ปี โดยจะใช้เครื่องมือนี้ในการกู้เงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 48-56% และจะมีการเปลี่ยนรุ่นพันธบัตรรัฐบาล ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% มีการออกตั๋งเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% การออก P/N และเทอมโลน ประมาณ 3.9-5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16-25% และในส่วนของการออกพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 6%
“เราไม่ได้ปิดกั้นการกู้เงินจากแหล่งเงินต่างประเทศ ได้มีการเปิดช่องไว้ แต่เบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับดูสถานการณ์หากเห็นสัญญาณตลาดพันธบัตรในประเทศเริ่มตึงตัว ก็จะใช้แหล่งเงินจากต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานและสถาบันการเงินของต่างประเทศมาเสนอเงื่อนไขการกู้เงินที่น่าสนใจ ซึ่ง สบน.อาจใช้รูปแบบการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ในส่วนของการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ ในโครงการลงทุน เช่น โครงการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา” ผอ.สบน. กล่าว
แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน.
แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน.
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตร ออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” วงเงิน 80,000 ล้านบาทในช่วงวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพื่อใช้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และจะออกเพิ่มอีก 70,000 ล้านบาทในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน 2565 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งไว้ที่ 150,000 ล้านบาท
ขณะที่ความคืบหน้า การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติกู้เงินแล้ว 2.37 แสนล้านบาท โดย สบน. มีการกู้เงินแล้ว 1.4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไป 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน เช่น โครงการคนละครึ่ง และอื่นๆ ทำให้วงเงินคงเหลือภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าวที่รัฐบาลยังอนุมัติได้อีกประมาณ 2.63 แสนล้านบาท ส่วนรัฐบาลมีแผนจะออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ผอ.สบน.ระบุแค่ว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล