ความพยายามในการออกมาตรการและข้อบังคับของรัฐบาลจีนเป็นไปเพื่อการควบคุมและจัดระเบียบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจเกิดความผันผวนจากนโยบายของรัฐบาล
ในช่วงที่ผ่านมา ปธน. สี จิ้น ผิง ได้เน้นย้ำถึงการสนับสนุน “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity” เพื่อจัดการกับช่องว่างความร่ำรวยขนาดใหญ่ในประเทศ โดยสำนักข่าว Bloomberg ได้มีการนับคำพูดดังกล่าวของ ปธน.สีจิ้นผิงในปี 2021 มากกว่า 60 ครั้ง ถือเป็นการพูดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ สะท้อนโอกาสสูงที่นโยบายที่เกี่ยวข้องจะถูกนำมาบังคับใช้ ส่งผลให้มหาเศรษฐีหลายรายถูกจับตามอง ดังเช่น กรณี Jack Ma อดีตมหาเศรษฐีที่ถือว่าร่ำรวยติดอับดับของประเทศจีน มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการและข้อบังคับใหม่ๆ ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทให้ปรับตัวลดลงอีกด้วย
มหาเศรษฐีจีน 10 อันดับแรกพบว่ามีเพียง 5 ราย ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเทคโนโลยี
ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมารัฐบาลจีนมีความต้องการที่จะลดระดับช่องว่างความมั่งคั่งที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงินที่อาจถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ส่งผลให้ในเดือนพ.ย. 2020 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมกำกับดูแลบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี ทั้งการป้องกันการผูกขาดการค้า (Antitrust), การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล, การควบคุมโรงเรียนกวดวิชา และการควบคุมและจำกัดเวลาในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2021-2025) ในการยกระดับการคุมเข้มในหลายอุตสาหกรรม เพื่อการดำเนินชีวิตและการมีสุขภาพที่ดี และคงความเท่าเทียมของประชาชนโดยรวม
จากมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 500 รายทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับโดย Bloomberg พบว่า มีมหาเศรษฐีจีน 81 ราย มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้น $1.1 ล้านล้าน เป็นรองเพียงสหรัฐฯเท่านั้น นอกจากนั้น UBS Group AG ยังประมาณการไว้ว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินระดับพันล้านกว่า 380 ราย
ทั้งนี้จากมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของจีน พบว่ามี 5 รายที่เป็นเจ้าของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Zhang Yiming
Huay (ByteDance), Ma Huateng (Tencent), Jack Ma (Alibaba), Colin Huang (Pinduoduo) และ William Ding (NetEase) โดยเกือบทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สินในปีนี้ลดลงจากปีก่อน อย่างไรก็ดี บุคคลดังกล่าวมีท่าทีและส่งสัญญาณบวกช่วยลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล หลายท่านมีการบริจาคเงิน และประกาศจะทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม อาทิ Zhang Yiming ผู้ก่อตั้ง Bytedance ระบุจะลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปีนี้และจะทำงานช่วยสังคม หรือ ผู้ก่อตั้ง Tencent Holding นาย Ma Huateng ระบุจะบริจาคเงินสำหรับการกุศลสูงถึง $15 billion ในเดือน ส.ค.
บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ล้วนออกมาตอบรับนโยบายของรัฐบาล สร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับการลงทุน
บริษัทจีนกว่า 73 บริษัทได้ตอบรับนโยบายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของรัฐบาล โดย Ping An, Meituan และ Bank of China ได้เน้นย้ำถึงความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและการลดความเหลื่อมล้ำในรายงานนำส่งผู้ถือหุ้นสำหรับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นสัญญาณบวกต่อบรรยากาศลงทุน
Meituan – ผู้ให้บริการส่งอาหารรายใหญ่ของจีน ได้กล่าวในรายงานผู้ถือหุ้นถึงการสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในสังคมที่ขยายขึ้น และได้เน้นย้ำถึงความเจริญร่วมกันที่อยู่ในสายเลือดของบริษัท
Pinduoduo - ผู้ให้บริการ E-Commerce รายใหญ่ของจีน ได้ประกาศบริจาคกำไรทั้งหมดในไตรมาส 2/21 กว่า $372 ล้านให้กับโครงการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ชนบทของจีน ซึ่งถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของบริษัท รวมถึงยังยังตั้งเป้าหมายบริจาคในส่วนอื่นๆเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นกว่า $1.5 พันล้าน
Tencent - บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนประกาศบริจาคเงินกว่า $7.7 พันล้านให้กับโครงการแก้ไขปัญกาความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาของจีน รวมถึงยังได้ตั้งเป้าหมายในการบริจาคเพิ่มขึ้นอีกกว่าสองเท่าสำหรับโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น $1.5 หมื่นล้าน
ความพยายามในการออกมาตรการและข้อบังคับของรัฐบาลจีนเป็นไปเพื่อการควบคุมและจัดระเบียบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจเกิดความผันผวนจากนโยบายของรัฐบาล แต่ราคาหุ้นหลายบริษัทที่ปรับลงมาถือว่าได้รับข่าวไปมากแล้ว และเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้มีความต้องการที่จะหยุดการเติบโตและการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นในระยะข้างหน้าหากการจัดระเบียบเป็นไปอย่างเรียบร้อย เชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงผลัดดันให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตามที่รัฐบาลจีนเคยประกาศเจตจำนงเอาไว้
Source: Bloomberg
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ
www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว