เมื่อวันจันทร์(30ส.ค.)
องค์การอนามัยโลก(WHO)เพิ่งประกาศให้ตัวกลายพันธุ์ "มิว" เป็น “สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ(variant of interest)” ทำให้มันกลายเป็นตัวกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 5 ที่อยู่ในบัญชีดังกล่าว
พวกเจ้าหน้าที่มีความกังวล ด้วยที่สายพันธุ์นี้มีบ่อเกิดจากการกลายพันธุ์ บ่งชี้ว่ามันอาจสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และแม้ยังพบเคสผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่องค์การอนามยโลกระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่าเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์มิว กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในโคลอมเบีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมัน และในเอกวาดอร์
เกือบทุกรัฐของสหรัฐฯ ยกเว้นเนบราสกา เวอร์มอนต์และเซาท์ดาโคตา ต่างรายงานพบเคสผู้ติดเชื้อตัวหลายพันธุ์มิวแล้ว ตามข้อมูลของ Outbreak.info ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบ open source จากสถาบันสถาบันวิจัยสคริปปส์ โดยมันมีอัตราความชุกสูงสุดในอะแลสกา คิดเป็นราว 4% ของเกือบๆ 4,000 ตัวอย่าง
มีอยู่ 15 รัฐ ประกอบด้วย นิวแฮมป์เชียร์ เวสต์เวอร์จิเนีย เซาท์แคโรไลนา เทนเนสซี เคนทักกี แอละแบมา มิสซิสซิปปี ลุยเซียนา อาร์คันซอ มิสซูรี ไอโอวา นอร์ทดาโคตา มอนแทนาและโอคลาโฮมา พบผู้ติดเชื้อราวๆ 10 เคสหรือต่ำกว่านั้น
24 รัฐ พบผู้ติดเชื้อระหว่าง 11 เคสถึง 50 เคส ส่วน 4 รัฐ ประกอบด้วย นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี เท็กซัสและวอชิงตัน พบผู้ติดเชื้อสูงสุดไม่เกิน 100 เคส ขณะที่ฟลอริดาเป็นรัฐเดียวที่พบผู้ติดเชื้อราวๆ 100 ถึง 200 เคส และแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐที่พบผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์มิวมากที่สุด 289 เคส
นับตั้งแต่ตรวจพบตัวกลายพันธุ์มิวในเดือนมกราคม องค์การอนามัยโลกเน้นว่ามีรายงานเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์นี้ประรายเล็กๆน้อยๆ ทว่าด้วยคุณสมบัติการกลายพันธุ์ของมัน ก่อข้อสันนิษฐานว่ามันอาจสามารถแพร่เชื้อสู่คนที่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยธรรมชาติหรือคนที่ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว ซึ่งในกรณีจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าว
นอกจากนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้ว่าวิธีรักษาด้วย Monoclonal Antibodies (แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว) ซึ่งได้ผลดีในบรรดาคนไข้ก่อนหน้านี้ อาจไม่ได้ผลกับตัวกลายพันธุ์มิวเช่นกัน
คาดหมายกันไว้อยู่แล้วว่าตัวกลายพันธุ์ต่างๆนานาของ SARS-CoV-2 จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวิวัฒนาการโดยธรรมชาติของไวรัสตัวหนึ่งๆเมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองตัวกลายพันธุ์อื่นๆอีก 4 ตัว ในฐานะ "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" ประกอบด้วยอัลฟา เบตา แกมมาและเดลตา ซึ่งทั้งหมดมีทั้งแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ก่อการติดเชื้ออาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาาพของมาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ ในนั้นรวมถึงวัคซีนและการรักษา
เดลตา ซึ่งถูกจัดให้เป็นตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลในเดือนพฤษภาคม กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ และกำลังโหมกระพือการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ในกลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน
นอกเหนือจากตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลทั้ง 4 ตัวแล้ว องค์การอนามยโลกกำลังจับตาตัวกลายพันธุ์อื่นๆอีก 5 ตัว ในฐานะ "สายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ" ประกอบไปด้วย อีตา ไอโอตา แคปปา แลมบ์ดาและ มิว สืบเนื่องจากทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่อาจทำให้พวกมันแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าหรือเป็นอันตรายกับมนุษย์ และพบว่าพวกมันก่อให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดต่างๆนานาในหลายประเทศ
แม้ว่าวัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% แต่วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และกันไม่ให้ผู้คนล้มป่วยอาการหนักหากมีผลตรวจเป็นบวก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความกังวลว่าหากไวรัสยังคงแพร่ระบาดอย่างไม่ลดละ อาจถือกำเนิดตัวกลายพันธุ์ใหม่ตัวหนึ่งๆที่สามารถต้านทานภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้
(ที่มา:นิวส์วีค)