ทิศทาง ก.ล.ต.หลัง Hearing ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล
ชำระค่าสินค้า-บริการเมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นฉพาะกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นเกือบ 500 ความเห็น
และเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. รับฟังความเห็นต่าง ๆ แล้วก็จะมีการตอบข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมต่าง ๆ ซึ่งความเห็นของสำนักงาน ก.ล.ต. นั้นจะเป็นแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคตต่อไป ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปที่น่าพิจารณา ดังนี้
สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง จะเกิดความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศจึงต้องคงหลักการกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไว้เช่นเดิม โดยข้อจำกัดในการห้ามดังกล่าวเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้นเนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลาย
แต่อย่างไรก็ตามสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Blockchain และยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงิน และไม่ปิดกั้นการใช้ทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อการลงทุน การพัฒนาบริการ หรือธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ยังยืนยันว่ากรณีบุคคลทั่วไปเปิด wallet เพื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมของตนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ซึ่งรวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาแนวทางการตรวจสอบวัตถุประสงค์ในการเปิด wallet ของบุคคลทั่วไปว่ามีการนำมาใช้เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการหรือไม่ต่อไปในอนาคต และเนื่องจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว กฎเกณฑ์ดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ถูกกำกับต้องมีดำเนินการอื่นใดซึ่งเป็นหลักเกณฑ์อย่างกว้างและไม่ตายตัวที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่เกี่ยวกับการชำระค่าสินค้าและบริการอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้วหลักเกณฑ์การจำกัดการให้บริการของธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ถูกบังคับใช้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย รวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการไม่มากก็น้อย
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้วการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นไปเพื่อการลงทุนและเป็นช่วงเริ่มต้นของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการและเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้น กฎเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะไม่กระทบต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอาจจะต้องหยุดพัฒนา
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)