พาณิชย์’ ประเดิมจัดสัมมนาเวทีใหญ่ที่นครพนม ชี้ช่อง
ผู้ประกอบการบุกตลาด RCEP
เริ่มแล้ว! กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประเดิมจัดงานสัมมนา ?ชี้ช่องโอกาส ลุยตลาด RCEP? ที่นครพนมแห่งแรก เร่งติวเข้มผู้ประกอบการไทยลุยตลาด RCEP สร้างโอกาสส่งออกสินค้า บริการและการลงทุน จากการลดภาษีของประเทศสมาชิก ชี้ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถแข่งขันได้มากขึ้น คาดช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 เตรียมเดินหน้าจัดต่อในทุกภูมิภาคและกรุงเทพฯ
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนา ?ชี้ช่องโอกาส ลุยตลาด RCEP? เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรม ฟอร์จูน ริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม ว่า การจัดงานสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่กรมฯ ได้จัดขึ้น หลังความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความตกลง RCEP ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคลุยตลาด RCEP ทั้ง 14 ประเทศ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นักวิชาการ และภาคประชาสังคม
นางสาวโชติมา เสริมว่า ความตกลง RCEP นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุนในตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้นแล้ว เราจะได้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม คือเรื่องการลดภาษีระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างโอกาสส่งออกสินค้า ทำให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งนี้ การมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จับมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ยกขบวนที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำแนะนำทางธุรกิจด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสินเชื่อในรูปแบบเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อการส่งออก
หลังจากที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จนถึงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่าถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.5 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก และมีการใช้สิทธิ์ RCEP เพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิกมูลค่ากว่า 1,165.52 ล้านบาท โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญของไทย อย่างเช่นจีน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าพืช ผัก และผลไม้สด ประกอบกับไทยมีอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมโยงการค้าไปสู่ตลาดจีนได้