SABUY ผ่ามูลค่าพีอีทะลุร้อยเท่า ซื้ออนาคต 'สบาย' แค่ไหน ??
ติดอันดับหุ้นร้อนแรงเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาดหุ้นไทยสำหรับหุ้นของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรกในวันที่ 11 พ.ย.63 ด้วยราคาไอพีโอ 2.50 บาท/หุ้น ก่อนจะเปิดฉากไล่ราคาเข้าสู่ขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถทะยานทุบจุดสูงสุดใหม่ในวันสุดท้ายของปี 64 (30 ธ.ค.64) ที่ระดับ 24.90 บาท/หุ้น สร้างรีเทิร์นจากส่วนต่างของราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาไอพีโอเกือบ 900% ภายในช่วงเวลาเพียง 1 ปีเศษ
ในช่วงเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นบริษัทในตลาดหุ้นไทยจะเรียกความสนใจจากผู้ลงทุนรายย่อยด้วยชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่เซียนหุ้นชื่อดังอย่าง 'วิชัย วชิรพงศ์' หรือเสี่ยยักษ์ แม้ว่าวันนี้กลับไร้ชื่อของ 'เสี่ยยักษ์' แต่ราคาหุ้นของ SABUY ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ตามแผนกลยุทธ์ขยายอาณาจักร SABUY Ecosystem ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอีกหลายราย
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABUY เปิดเผยกับ 'อินโฟเควสท์'ว่า ถ้านิยามธุรกิจของ SABUY คือ Ecosystem สิ่งที่ SABUY มุ่งทำ คือธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงความคุ้มค่า และต้องปกป้องผู้ถือหุ้น ปกป้อง Stakeholder ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน อันนี้คือสิ่งที่เรายึดมั่น และในอนาคตจะสร้าง Ecosystem ที่ไม่ผูกขาด เพราะแบ่งหมดทุกคน ดังนั้น Ecosystem ที่แบ่งหมดทุกคนจะมีคนวิ่งเข้ามาหาโอกาส และทุกคนอยากใส่โอกาสเข้ามา
'วันนี้หุ้นของเราเทรด P/E 100 เท่า มาตั้งแต่ราคา 7-8 บาท เพราะว่า Earning เราโต เรามองว่าการที่นักลงทุนเชื่อมั่นที่จะให้ PE เรา มาจาก 3 องค์ประกอบ 1.โอกาสในการเติบโตรายได้ เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง 2.การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา เราพิสูจน์แล้วว่าเราทำได้ดี เราทำให้เกิด Economic of Scale 3.ตั้งแต่เข้าตลาดมา ผมยังไม่เคยขายหุ้นสักหุ้นเลย' นายชูเกียรติ กล่าว
*ถอดรหัส 4 เสาหลัก SABUY Ecosystem เพิ่มมูลค่ากิจการ
นายชูเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับ 'อินโฟเควสท์' ว่า SABUY ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 63 ด้วยจุดประสงค์มุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่ใช้ง่าย ใช้สบาย และเข้าถึงมหาชน ด้วยการสร้าง SABUY Ecosystem เพื่อให้บริการหลายรูปแบบแก่ผู้บริโภค ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก อย่างธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ (Payments) โดยให้บริการผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ 'เติมสบายพลัส' ที่สามารถทำได้ทั้งการชำระค่าบริการ การเติมเงิน การรับฝากและโอนเงิน มุ่งตอบสนองความต้องการของคนไทยกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันพร้อมให้บริการมากกว่า 57,000 ตู้ทั่วประเทศ
*มุ่งเป้าสู่เบอร์หนึ่ง Vending Machine ภายในปี 65
ต่อมาคือธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Merchandising) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้รอบด้าน ทั้งเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
และจากการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ FSMART ในเดือน พ.ย.64 ที่ผ่านมา ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้บริการมากกว่า 10,000 ตู้ และขยายจุดให้บริการมากกว่า 21 จังหวัด ช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการและการแข่งขันของ SABUY ให้มีโอกาสก้าวเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ในปี 65
และธุรกิจ Solutions & Platforms เช่น การเป็นผู้ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหารแบบครบวงจร หรือการเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการร้านค้าครบวงจร (POS) และในช่วง เม.ย.64 SABUY ได้เข้าลงทุนใน บริษัท เอ.ที.พี.เฟรนด์ เซอร์วิส จำกัด (Shipsmile) เพื่อขยายธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายแฟรนไชส์จุดรวบรวมการขนส่งพัสดุภายในประเทศจากบริษัทขนส่งชั้นนำ เช่น Flash, Kerry, Thaipost เป็นต้น นอกจากนี้ Shipsmile ยังเป็นตัวแทนการขายประกันภัย พ.ร.บ. ภาษี จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส ชำระบิล จำหน่ายกล่องพัสดุไปรษณีย์ และศูนย์ถ่ายเอกสารครบวงจร ปัจจุบัน Shipsmile มีมากกว่า 4,000 สาขาพร้อมให้บริการทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการเงิน-บริการชำระเงิน (Financial Services) ให้บริการธุรกิจด้านประกันภัยหลายประเภท ทั้งประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันอัคคีภัย เป็นต้น ประกอบกับยังมีธุรกิจด้านสินเชื่อพร้อมให้บริการลูกค้า และด้วยฐานข้อมูลลูกค้าที่แข็งแกร่งของ SABUY จะส่งผลให้ธุรกิจ Financial Services สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม
'เราตั้งใจว่า เราจะเป็นเหมือนหน้าร้านให้กับพาร์ทเนอร์ของเรา ผ่านการเดินหน้าขยาย SABUY Ecosystem อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พาร์ทเนอร์ของเราสามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้ากว่า 50 ล้านรายที่เรามี ตอนนี้เรามีธุรกิจหลัก 4 ด้านอย่าง Payment, Merchandising, Solutions & Platforms และ Financial Services ซึ่งทุกธุรกิจ ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับเรา และทำให้เราสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น' นายชูเกียรติ กล่าว
*ทุ่มงบหลักพันล้านรุกตู้ ATM 1 หมื่นจุดหน้าร้าน 7-11
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจใหม่ผ่านบริษัท แพลท ฟินเซิร์ฟ จำกัด (PFS) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดย PFS ได้สิทธิติดตั้งตู้ ATM จำนวน 10,000 ตู้หน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทั่วประเทศเป็นเวลา 10 ปี และจะให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสผ่านตู้ ATM แทนบริการด้วยพนักงาน คาดว่าเริ่มติดตั้งได้ 100 สาขาแรกในช่วงสิ้นปี 64 นี้ ก่อนจะเดินหน้าติดตั้ง 500 สาขาต่อเดือน และคาดว่าจะติดตั้งครบทุกสาขาในเดือน ก.พ. 66
'เราศึกษาธุรกิจนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว ใช้งบลงทุนไปประมาณ 1,130 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราจะได้กลับมา คือเราได้เรียนรู้การติดตั้งและระบบการทำงานของตู้ ATM รวมไปถึงการเชื่อมระบบจากตู้ ATM ไปยังระบบธนาคาร ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลตรงนี้มาพัฒนา loT Solution ให้เหมาะสมกับ SABUY Ecosystem
และในอนาคตสามารถนำโมเดลธุรกิจนี้ ขยายไปยังร้านสะดวกซื้อหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์อื่น หรืออาจจะต่อยอดรวมตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพียงตู้เดียว หรืออาจจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พัฒนาเครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็ได้'นายชูเกียรติ กล่าว
สำหรับงบลงทุนปี 65 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท เนื่องจากจะมีกระแสเงินสดเข้ามาจากการเพิ่มทุนในรอบล่าสุด จะส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อทุนเหลือ 0.8 เท่า ซึ่งปัจจุบันฐานทุนของเรามี 3-4 พันล้านบาท มีศักยภาพในการขอสินเชื่อกับธนาคารได้ถึง 2 เท่าของฐานทุน และกรณีมีดีลร่วมมือกับพันธมิตรอาจจะใช้รูปแบบในการแลกหุ้นกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนของบริษัท
*ผลงานปี 65 ลุ้นโตเกิน 50% เดินหน้าศึกษาซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ
สำหรับภาพรวมผลประกอบการปี 65 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะสามารถเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% จากการเติบโตของทั้ง 4 ธุรกิจหลัก และหากรายได้ของบริษัทเติบโต กำไรจะเติบโตตามไปด้วย ตามแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ อย่างในช่วงปี 63 ที่เผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทก็สามารถทำกำไรสุทธิได้ที่ 102 ล้านบาท
รวมไปถึงในปี 65 บริษัทตั้งเป้าหมายการนำข้อมูลลูกค้าทั้งหมด 50 ล้านราย มาจัดเรียงและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการอย่างตรงจุด รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ของบริษัทก็จะมีช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาดีล M&A ในธุรกิจ Payments กับพาร์ทเนอร์รายใหญ่อีก 4 ราย แต่ละรายมีฐานลูกค้าประมาณ 5-20 ล้านคน คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนต่อเนื่องในปี 65 ช่วยเสริมฐานลูกค้าให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจ Merchandising วางแผนจะเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ รวมถึงเพิ่มพาร์ทเนอร์เข้าไปในระบบ SABUY Ecosystem ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคุลมในหลายมิติ
ด้านธุรกิจ Solutions & Platforms มีแผนจะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบ และก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ อีกประมาณ 2-3 อุตสาหกรรม เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจลิสซิ่งและธุรกิจประกันภัย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาพาร์ทเนอร์เพื่อเข้าซื้อกิจการและร่วมลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ SABUY วางแผนจะลงทุนในบริษัท Tech Startups หรือการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีทิศทางที่ชัดเจน เพื่อสนับสนุนแนวคิดหรือสินค้าที่มีความน่าสนใจ สร้างการเติบโตร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง