รอผลตรวจยืนยัน
โอมิครอนรายที่ 4 ชายไทยกลับจากดีอาร์คองโก สธ.ยันยังไม่กลายพันธุ์ สามารถตรวจด้วย RT-PCR ได้เช่นเดิม
วันนี้ (9 ธ.ค.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการตรวจพบเชื้อโอมิครอนเพิ่มเติม เฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.64 ตรวจหาเชื้อ SNP เฉพาะตำแหน่งเฉพาะยีน และ WGS ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เพื่อพิสูจน์ว่าติดเชื้อสายพันธุ์ใด โดยตรวจทั้งหมด 1,649 ตัวอย่าง เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์เดลตา พบสายพันธุ์โอมิครอน 4 คน ไม่ถึง 1% จึงยืนยันว่าศัตรูของเรายังเป็นสายพันธุ์เดลตา
ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่าโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA 2 ตีเนียนโดยมียีนหายไปบางตำแหน่ง อาจตรวจจับไม่พบ นพ.ศุภกิจยืนยันว่า สายพันธุ์ย่อย BA 2 หรือโอมิครอน-ไลก์ หลอกชุดตรวจไม่ได้ เพราะมีการตรวจจำเพาะเจาะตำแหน่งกลายพันธุ์ 4 จุด แม้จะหายไปในตำแหน่งอัลฟา แต่ยังพบใน 3 ตำแหน่ง เว้นเสียแต่จะมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้ อาจจะต้องปรับสูตรการตรวจหาเชื้อใหม่
สำหรับผู้ติดเชื้อต้องสงสัยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน อีก 1 คน ได้รับตัวอย่างส่งตรวจเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 เป็นการตรวจพบรายที่ 4 ชายไทย อายุ 41 ปี ทำงานในองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยมีประวัติเดินทางมาจากประเทศ ดีอาร์ คองโก เข้าไทยในระบบ Test&Go ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 โดส ผลตรวจด้วยชุด SNP พบเชื้อใน 4 ตำแหน่ง เหมือนกับรายที่ 1-3 ที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ ขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ระหว่างกักตัว สอบสวนหากลุ่มเสี่ยง
ขณะนี้ไทยมีผู้ตรวจยืนยันโอมิครอน 3 คน เป็นชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน 1 คน เป็นหญิงไทย 2 คน เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย 2 คน และรายล่าสุดอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน เป็นชายไทยเดินทางมาจากประเทศดีอาร์คองโก และชุดตรวจ ATK ในไทยใช้ตรวจหาเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้
“อย่าวิตกกังวลมาก ถึงอย่างไรเชื้อตัวนี้จะกระจายไปได้ทั่วโลก การตรวจพบ 4 คน ใน 1,600 คน ถือว่าน้อยมาก สัดส่วนอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ข่าวดีคือยังไม่มีใครเสียชีวิต ส่วนข้อมูลที่ระบุว่าโอมิครอนหลบวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม เป็นการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างแค่ 6 คน อาจไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ ดังนั้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลและวัคซีนยังเป็นเกาะป้องกันได้ดีที่สุด” นพ.ศุภกิจกล่าว