สศค. เผย
ภาวะเศรฐกิจไทย ต.ค. มีสัญาญดีขึ้น จากแรงหนุนสถานกาณ์ไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ การลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้น และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีเเนวโน้มดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2564 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -9.0% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 1.4% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 43.9 จากระดับ 41.4 ในเดือนกันยายน 2564 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวที่ 10.6% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -11.2% ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.0 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงที่ -10.2% ต่อปี
ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวที่ 21.8% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.4% ต่อปี ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ -7.2% ต่อปี
ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 22,738.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ 17.4% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าเกษตรและอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ภายใน 3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด 4. สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ และ 5. สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวที่ 0.9% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.1 จากระดับ 79.0 ในเดือนกันยายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น
รวมถึงภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 20,272 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สำหรับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 4,596,227 คน หรือคิดเป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงที่ -66.5% ต่อปี
ขณะที่ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 2.38% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.21% ต่อปี ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 58.2% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ