องค์การอนามัยโลกเตือนว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะทราบได้ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุดนี้สามารถติดต่อกันได้อย่างไร และวัคซีนที่มีอยู่จะให้ผลอย่างไรในการป้องกัน
แม้ขณะนี้องค์การอนามัยโลกจะยังมีท่าทีระมัดระวังในเรื่องมาตรการจำกัดการเดินทาง และแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ตัดสินใจเรื่องนี้โดยคำนึงถึง "ความเสี่ยงและหลักการทางวิทยาศาสตร์" เป็นหลัก แต่ขณะนี้หลายประเทศเริ่มสั่งห้ามผู้ที่มาจากแอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศของตนแล้ว
สำหรับประเทศไทย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่าได้รับรายงานเรื่องการพบไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่แอฟริกาแล้ว และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการต่าง ๆ
วันรุ่งขึ้น (27 พ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดแถลงข่าวด่วนเรื่อง "มาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิดโอไมครอน" โดย 2 อธิบดีในสังกัดกระทรวง
นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ไทยจะไม่อนุญาตให้ประเทศในแอฟริกาลงทะเบียนเพื่อขอเข้าไทยตั้งแต่บัดนี้ พร้อมแบ่งการเดินทางเข้าไทยของประเทศในทวีปแอฟริกาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
หนึ่ง ประเทศที่พบเชื้อไวรัสโอไมครอน/ประเทศเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี
ผู้ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัว 14 วัน ตั้งแต่ 28 พ.ย.
ไม่อนุญาตให้เข้าไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค.
ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย.
สอง ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศ
ไม่อนุญาตให้เข้าในระบบ Test & Go (ขณะนี้ไทยประกาศไว้ 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่มีความเสี่ยงน้อย)
ไม่อนุญาตให้เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์
สามารถเข้าไทยได้ โดยต้องกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง
tourist at Airport
ที่มาของภาพ,EPA
อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุด้วยว่า นับจากเปิดประเทศมีผู้เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต โดยตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19
นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำประชาชนให้ "ตั้งสติในการชีวิต" พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส B.1.1.529 ในไทย
แม้ผู้เชี่ยวชาญมีข้อกังวลจากการพบลักษณะการกลายพันธุ์ที่ 50 ตำแหน่ง โดยมี 32 ตำแหน่งอยู่ในสไปก์โปรตีน หรือโปรตีนหนามที่จะมาจับกับเซลล์มนุษย์ ขณะที่ไวรัสเดลตา กลายพันธุ์แค่ 9 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอ เป็นการสันนิษฐานจากแล็บเท่านั้น ต้องรวบรวมข้อมูลต่อไป ยังไม่อยากให้กังวลมาก
"โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา อัลฟา เบตา เป็นการกลายพันธุ์ตัวใหม่ พ่อแม่จริง ๆ ก็มาจากรุ่นอู่ฮั่น" นพ. ศุภกิจกล่าว และว่าเราต้องร่วมนักวิทยาศาสตร์ในโลกติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้แจ้งสายการบินห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศเข้าไทยเพื่อสกัดเชื้อโควิด-19 "โอไมครอน" ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามีเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว โดยผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงไทยระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย. จะต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันทันที
ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป ห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศเหล่านี้เข้าประเทศไทย พร้อมทั้งยุติระบบ Thailand Pass ด้วย และกำชับให้สายการบินทุกสายช่วยตรวจสอบกลั่นกรองและเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ หากทราบว่ามีผู้โดยสารเดินทางมาจากทั้ง 8 ประเทศนี้แม้ว่าจะได้รับการอนุญาตผ่านระบบ Thailand Pass โดยแจ้งว่าได้ลงทะเบียนมาจากประเทศอื่น ขอให้แจ้งผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวด้วย
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่าจำนวนประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเป็น 27 ประเทศ โดย 13 ประเทศอยู่ในยุโรป 8 ประเทศอยู่ในแอฟริกา ส่วนที่เหลือ ได้แก่ แคนาดา ฮ่องกง อิสราเอล สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ศบค. ยังเผยแพร่ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเชื้อก่อโรคโควิดกลายพันธุ์ทั้ง 5 สายพันธุ์ และประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ดังนี้
เปรียบเทียบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์เตือนอย่าวิตกเกินเหตุ
ศ. ริชาร์ด เลซเซลล์ จากมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทัล ของแอฟริกาใต้ อธิบายว่าการกลายพันธุ์ของยีนที่พบในเชื้อโควิดชนิดใหม่นี้ หลายตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักดี ทั้งยังเคยพบมาแล้วในเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ทำให้ทราบได้ทันทีว่า เชื้อชนิดใหม่สามารถทำให้แอนติบอดีไม่อาจจดจำไวรัสโควิดได้ และยังหลบหลีกการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายบางส่วนได้อีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งวัคซีนใช้ไม่ได้ผล
ศ. ฟรองซัวส์ บาโล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์ ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน บอกบีบีซีว่าการตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้รวดเร็ว ช่วยให้การควบคุมทำได้ง่ายข้น และแม้ว่าเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายให้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามควบคุมการระบาด "ต้องถอยกลับไปอยู่จุดเดิม"
ดร. แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ข่าวการพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่อาจเป็น "ธงแดง" ให้หลายคนได้ตระหนัก แต่วัคซีนที่มีอยู่อาจยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหยุดยั้งอาการป่วยรุนแรงได้