͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมจีนจึงยืดหยัดกับ นโยบาย ‘โควิดต้องเป็นศูนย์’?.  (อ่าน 74 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Shopd2

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 11951
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด

จีนน่าจะเป็นประเทศเดียว ณ วันนี้ที่ยังยืนยันที่จะเดินหน้าจัดการกับการแพร่ระบาดด้วยนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” หรือ Zero-Covid strategy

ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่พยายามจะปรับแนวทางเป็น “ต้องอยู่ร่วมกับโควิด” ให้ได้

ทุกวันนี้ จีนยังเข้มงวดกับมาตรการควบคุมโรคที่อย่างยิ่ง

ทุกคนที่เดินเข้าโรงแรมห้าดาวต้องเข้ากระบวนการกักโรค 2 สัปดาห์

เหตุเป็นเพียงเพราะแขกคนหนึ่งของโรงแรมติดโควิด

 หรือเมื่อพนักงานรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งติดโรคนี้ก็ทำให้ผู้โดยสารของรถไฟทั้งขบวนต้องถูกกักโรคและเข้ารับการตรวจหาเชื้อกันจ้าละหวั่น

ที่สวนสนุกเซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์ นักท่องเที่ยว 33,863 คน ต้องเข้ารับการตรวจโควิดเพียงเพราะมีคนมาเที่ยวในวันก่อนหน้า 1 คนติดโควิด

จึงกลายเป็นว่าจีนเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการควบคุมโรค เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างเข้มข้น

และดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในประเทศสุดท้ายที่ผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ เหล่านี้

นักข่าวต่างชาติบางคนบอกว่าพอลงไปพูดคุยกับชาวบ้านคนจีน ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับมาตรการเข้มงวดเหล่านี้

เพราะพวกเขาถือว่าถ้าความเอาจริงเอาจังอย่างนี้ทำให้ปลอดภัย ก็ยอมรับกับความไม่สะดวกของชีวิตประจำวันที่ต้องประสบ

นักข่าวคนหนึ่งถามผู้หญิงคนหนึ่งว่าจีนควรจะเปิดประเทศให้เร็วขึ้นไหม

ได้รับคำตอบว่ารอต่อไปจนกว่าโรคระบาดนี้จะถูกจัดการได้อย่างเหมาะสมก่อนดีกว่า

เพราะความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง

อีกคนหนึ่งถูกถามคำถามเดียวกัน เธอตอบว่าเมื่อยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างสมบูรณ์ที่จะนำไปปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นก็ต้องเน้นความปลอดภัยของสังคมเอาไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

นั่นสะท้อนว่าคนจีนส่วนใหญ่ยอมรับมาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” มากกว่าผู้คนในประเทศอื่นๆ มากมายนัก

เพราะหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ต่างก็จัดการบริหารโควิดด้วยวิธีการที่ผ่อนเบากว่าจีนหลายด้าน

เริ่มต้นด้วยการพยายามขจัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้หมดสิ้นไปจากชุมชน

ทำให้หลายเมืองต้องเข้าสู่การล็อกดาวน์จนกว่าจะหยุดยั้งการระบาดได้

โดยมีเป้าหมายแรกเริ่มคือการทำให้การระบาดภายในท้องถิ่นเป็นศูนย์

แต่พอมีปัจจัยสองประการเข้ามาแทรกก็ทำให้หลายประเทศเหล่านี้ต้องปรับแผนสู้ใหม่

ปัจจัยที่ว่านี้คือการพบสายพันธุ์เดลตา

ปัจจัยที่สองคืออัตราการให้วัคซีนต้านโควิดแก่ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

พอประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น แม้จะยังมีผู้ติดเชื้อแต่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล

ทำให้หลายประเทศยอมเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอย่างที่ไทยเราทำอยู่

แต่จีนยังไม่เปลี่ยนแนวทางเข้มข้นของตนแต่อย่างไร

เพราะยังคงเป็นเรื่องยากที่จะออกวีซ่าให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ

คนจีนเองก็ยังเดินทางออกนอกประเทศได้ยากเช่นกัน

ข้อมูลทางการจีนบอกว่าเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนพบโควิดระบาดในประเทศกว่า 1,000 ราย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูง แต่การระบาดได้แพร่เข้าไปใน 21 มณฑล

นี่ จีนถือว่านี่เป็นเรื่องใหญ่

แม้พบผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่ราย ทางการก็ใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดแบบเดียวกับการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักร้อยหรือหลักพันคน

นั่นคือนโยบาย "แม้รายเดียวก็ไม่อาจยอมรับได้"

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนจะขอให้ทบทวนนโยบายนี้ แต่ทางการจีนยังยึดหลักเข้มงวดเต็มพิกัดนี้อยู่

หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอให้ทางการจีนทบทวนแนวทางนี้คือศาสตราจารย์กวน อี้ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลจีน

แกเสนอให้ทางการจีนเปลี่ยนวิธีตรวจโควิดจากการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรม (nucleic acid test) มาเป็นการตรวจหาสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี

ซึ่งอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจประสิทธิผลของวัคซีนได้มากขึ้น

แกบอกว่าในระยะยาวไม่มีทางที่นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ของทางการจีนจะใช้ได้ผลในแง่ของการขจัดโควิดให้หมดสิ้นไป

นักวิทยาศาสตร์คนนี้บอกว่าตอนนี้เชื้อไวรัสโคโรนาปักหลักอยู่อย่างถาวรแล้ว ไม่ต่างอะไรกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะยังแพร่ระบาดในมนุษย์ต่อไปอีกนาน

ดร.หวง หยานจง จากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กบอกว่าปัญหาสำคัญคือ วัคซีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ได้

แทนที่รัฐบาลจีนจะ “ทำใจยอมรับความจริง” เรื่องนี้ แต่ปักกิ่งกลับตอบสนองด้วยความกลัวและเพิ่มมาตรการมากขึ้นอีก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนจะวิเคราะห์ว่านโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของรัฐบาลจีนนั้นเป็นการผสมผสานแนวทางการแพทย์กับแนวคิดทางการเมืองเพื่อสามารถอ้างความสำเร็จต่อประชาชนถึงความสามารถในการรับมือการระบาดของโควิด

ผู้นำจีนคงต้องการจะพิสูจน์ว่าระบบการปกครองแบบเข้มงวดกวดขันแบบของจีนนั้นมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโควิดได้ดีกว่าโลกตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด

ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทางการจีนต้องการให้ประเทศปลอดจากการระบาดของโควิดก็คือ เพราะปีหน้ามีงานใหญ่ระดับชาติรออยู่

หนึ่งในนั้นคือมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

แม้จะไม่มีการขายบัตรให้ประชาชนเข้าชมตามปกติ แต่ทางการก็มีเป้าหมายที่จะให้มีผู้ชมอยู่บนอัฒจันทร์จำนวนหนึ่งที่ควบคุมได้

ยิ่งกว่านั้นในเดือนตุลาคมปีหน้าจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี

เป็นจังหวะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองด้วยการดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 3

ถ้าฟังคุณหมอจง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจที่เป็นเหมือนหมอแอนโทนี ฟาวซี ของสหรัฐฯ เพราะประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ความเชื่อถือก็จะเห็นได้ว่านโยบายเรื่องนี้คงจะไม่เปลี่ยนไปง่ายๆ

หมอจง หนานซาน ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มาตรการโควิดที่เข้มงวดของจีนจะ “ยังอยู่ต่อไปอีกนาน” ทีเดียว

เพราะอัตราการเสียชีวิตจากโควิดของทั่วโลกที่ระดับ 2% นั้น ยังสูงเกินไปที่จีนจะยอมรับได้แม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม

แกบอกว่าความเสียหายจากการเปิดประเทศเร็วเกินไปก็จะไม่คุ้มค่า

และจีนจะเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ที่ใช้แผนการ "อยู่ร่วมกับโควิด"

ดังนั้น ใครที่คิดว่าจีนจะคลายล็อกมาตรการควบคุมโควิดในเร็วๆ นี้ ก็ต้องคิดใหม่เสียแล้ว.