"บล.ยูโอบี เคย์เฮียน" ชี้ คลังสั่งปิด"เอเชียประกันภัย"
กระทบต่อบรรยากาศลงทุนรวมของหุ้นไทยคงไม่มาก แต่คาดจะกระทบต่อบรรยากาศลงทุนหุ้นในกลุ่มประกันภัยบ้าง เหตุกังวลผลกระทบของการเคลมประกันโควิดที่จะมีต่อผลประกอบการไตรมาส 3/64
จากกรณีที่กระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บริษัท เอเชียประกันภัย 1951 จำกัด นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ( บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากประเด็นดังกล่าว กระทบต่อบรรยากาศลงทุนรวมของหุ้นไทยคงไม่มาก แต่คาดว่าจะกระทบต่อบรรยากาศลงทุนหุ้นในกลุ่มประกันภัยบ้าง จากความกังวลผลกระทบของการเคลมประกันโควิด-19 ที่จะมีต่อผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/64
อย่างไรก็ตามภาพรวมของความแข็งแกร่งของบริษัทประกันภัยเบื้องต้น สามารถสามารถดูได้จากอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ซึ่งจะเป็นการดูเงินที่บริษัทสำรองไว้เทียบกับที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกลุ่มของบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีอัตราส่วนดังกล่าวเกินกว่า 200% (อิงข้อมูลไตรมาส 1/63 จากสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย) ไม่ว่าจะเป็น วิริยะประกันภัย (205%), ทิพยประกันภัย (213%), กรุงเทพประกันภัย (236%), เมืองไทยประกันภัย (255%) หรือแม้แต่ สินมั่นคงประกันภัย (371%) ที่เคยมีประเด็นขอยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ก็จะเห็นว่ามีการสำรองเงินกองทุนไว้ในระดับสูง
ดังนั้นถึงแม้จะมีปัญหาจากยอดเคลมที่น่าจะสร้างผลขาดทุนในระดับที่สูง แต่ในเชิงความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการก็จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ค่าเฉลี่ยของเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยไทยอยู่ที่ 399% ถือว่าแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ทั้งนี้บริษัทประกันภัยที่เป็นบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มี CAR มากกว่า 200% ยกเว้นอาคเนย์ประกันภัย (134% ณ สิ้นไตรมาส 1/63) ทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันโควิด-19ที่สูงกว่าบริษัทประกันภัยที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอื่น
อ่านข่าว : เปิดแนวทางช่วยเหลือ 3 กลุ่มได้รับผลกระทบ สั่ง’ปิดเอเชียประกันภัย’
โดยปกติแล้วการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในช่วง 12 ปี ที่ผ่านมาเกิดขึ้นประมาณ 4 กรณี คือ สัมพันธ์ประกันภัย (2552), เอ.พี.เอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล (2553), สัจจะประกันภัย (2560), เจ้าพระยาประกันภัย (2561) โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของการดำรงเงินกองทุน มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ หรือจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับชำระหนี้สินและภาระผูกพันไม่ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาส่วนตัวหรือระบบบริหารงานภายในของแต่ละบริษัท ทำให้มีลักษณะเป็นปัญหาเฉพาะราย
ทั้งนี้สถานการณ์ของบริษัทประกันในรอบนี้ที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19มีความแตกต่างอยู่พอสมควร และกระทบเป็นวงกว้าง กับบริษัทหลายรายจากความเสี่ยงเชิงระบบที่สูงขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยย่ำแย่ลง ทำให้ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยสูงขึ้นมากกว่าที่บริษัทประกันภัยเคยประเมินไว้ ซึ่งความเสี่ยงในการรับประกันภัยจริงๆของแต่ละรายก็ยังคงแตกต่างกันไปอีก ขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิ ประเภทของกรมธรรม์โควิด-19ที่ขาย, การควบคุมความเสี่ยงในการรับประกัน, การเลือกช่องทางการขาย เป็นต้น อย่างเช่นบริษัทประกันภัยบางแห่งไม่รับประกันในลักษณะเหมาทั้งองค์กร หรือทั้งโรงงาน แม้จะเสียโอกาสในการรับเบี้ย แต่ในเชิงควบคุมความเสี่ยงก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทประกันภัยที่รับประกันที่ไม่ได้คุมความเสี่ยงตรงนี้
สำหรับปัญหาของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด น่าจะมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ประกอบกับปัญหาของการเคลมประกันโควิด-19ที่ทำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ลดลงอย่างรวมเร็ว โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/64 CAR ที่ 153% (ลดลงจากไตรมาส 1/64 ที่ 193%)
ขณะที่บริษัทถูกสั่งแก้ไขดำเนินผลประกอบการมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งหลังการเข้าควบคุมการดำเนินงานทาง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คงเล็งเห็นแล้วว่าบริษัทไม่สามารถจ่ายชำระภาระผูกพันที่เกิดจากการเคลมประกัน โควิด-19ได้ จึงต้องใช้อำนาจนายทะเบียนในการสั่งระงับการรับประกันภัยใหม่ และเสนอให้ รมว.คลังเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะเปิดทางให้สามารถใช้กลไกของกองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแลผู้เอาประกัน