͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ตอนที่ ๑  (อ่าน 105 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 12494
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


คอลัมน์ ศิลปะแห่งศรัทธา
โดย ARTMULET

 สวัสดีครับ  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงผลงานประติมากรรม “พระพุทธสิงหอินทราชาบดี” หรือ “สิงห์หนึ่ง” วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบปาละของอินเดียที่มีพุทธศิลป์ที่งดงาม ประณีต วิจิตร บรรจง ตามรูปแบบของพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งยุคต้นโดยแท้และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปชุด “สุดยอดมหาไตรภาคี” ที่ถือกำเนิดขึ้น ณ ดินแดนทุ่งโพธิ์ทอง อันเป็นที่ตั้งของวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง ในปัจจุบัน ถือเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์และอุดมสมบูรณ์จึงเป็นสุดยอดแห่งความเป็นสิริมงคลเมื่อได้มีไว้บูชา เป็นเครื่องเจริญพุทธานุสติ เพื่อความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลและเป็นพระประจำตระกูลเป็นมรดกสืบทอดไปยังลูกหลานต่อไปในภายหน้า

ในสัปดาห์นี้ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องราวประวัติและที่มาของ  “องค์พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล” และวัดขุนอินทประมูลอันเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของผลงานประติมากรรมและองค์พระพุทธปฏิมาองค์สำคัญต่างๆ รวมทั้งพระพุทธรูปในชุด “มหาไตรภาคี” ซึ่งวัดขุนอินทประมูลนั้นเป็นวัดเก่าแก่สำคัญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย







วัดขุนอินทประมูล เป็นพระอารามราษฎร์ ชั้นสามัญ ตั้งอยู่ หมู่ ๓ ตําบลบางพลับ อําเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ประกาศขึ้นทะเบียนวัดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอน ที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๐ เนื้อที่วิสุงคามสีมา ๘๐ ไร่เศษ เดิมเป็นเพียงสํานักสงฆ์ที่ใช้เป็นที่วิปัสสนาธุระ สร้างเป็นเพิงพักเครื่องไม้ไผ่หลังคา มุงแฝกแบบฝีมือชาวบ้าน บริเวณเดิมเป็นโคกสูงน้ำท่วมไม่ถึง ในสมัยโบราณเป็นแหล่งที่ชาวบ้านปลูกเพิงอาศัยเพื่อนําวัวควายมาดูแลในฤดูน้ำหลากเดือน ๑๑-๑๒ ของทุกปี เมื่อน้ำลดก็นําวัวควายกลับที่พํานักยังถิ่นที่อยู่เดิม เป็นเช่นนี้เรื่อยมา
ในสมัยโบราณยุคทวาราวดี บริเวณบ้านบางพลับนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งเป็นแนวผ่านมาจาก นครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี จนไปถึงเมืองลพบุรีหรือเมืองละโว้เดิม ต่อมากลายเป็นแม่น้ำน้อย ซึ่งมีคลองบางพลับเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อยเชื่อกันว่าในสมัยสุโขทัยนั้นบ้านบางพลับเป็นชุมชนใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยเชื่อมกับคลองบางพลับและวัดขุนอินทประมูลตั้งอยู่ริมฝั่งคลองนี้ ตามตํานานสิงหนได้กล่าวถึงประวัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลนี้ไว้ว่าสมัยกรุงสุโขทัยรุ่งเรืองในยุคที่พระยาเลอไทสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ารามคําแหงผู้เป็นพระราชบิดา ครั้งนั้นพระยาเลอไทเสด็จจากกรุงสุโขทัยโดยทางชลมารเพื่อมานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ เขาสมอคอน ในเขตกรุงละโว้ ในการเสด็จครั้งนั้นมาใช้เส้นทางลำน้ำยมเข้าสู่ลำน้ำปิงแล้วลงสู่ลำน้ำเจ้าพระยาแยกลำน้ำมหาศร เข้าสู่เขาสมอคอนอันเป็นที่พํานักของฤาษี ผู้เป็นอาจารย์ เมื่อนมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะแล้ว พักแรมอยู่ ณ เขาสมอคอน ๕ เพลา จึงได้เสด็จข้ามท้องทุ่ง เนื่องด้วยเวลาที่เสด็จมานั้นเป็นเวลาน้ำเหนือบ่าจึงได้แวะประทับโดยสร้างพลับพลา ณ โคกบางพลับแห่งนี้ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดขุนอินทประมูล) ขณะประทับแรมอยู่ ณ โคกบางพลับ เวลายามสามจึงเกิดศุภนิมิตรทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นเหนือยอดไม้หายไปในอากาศทางทิศตะวันออก ด้วยคำทำนายของโหรหลวงที่ว่านิมิตรทำนายว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองแลความอุดมสมบูรณ์จะเกิดขึ้นทั่วสารทิศในแผ่นดินแห่งพระองค์ควรจะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่ระลึกถึงศุภนิมิตรที่มีขึ้นในการมาประทับแรมครั้งนี้และเพื่อสืบทอดอายุในพระพุทธศาสนา





เมื่อพระองค์ได้สดับดังนี้ก็เกิดปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งจึงมีดําริสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น โดยมอบหมายให้นายบ้านเกณฑ์แรงงานทั่วแคว้นแดนลุ่มแม่น้ำน้อยทั้งหมดได้คนพันเศษ ขุดหลุมกว้าง ๒๐๐ วา นำท่อนซุงนับร้อยท่อนลงวางขัดตาราง เป็นฐานแล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลัง ขนดินขึ้นถมสูง ๓ วา (ปัจจุบันเป็นสระกว้างอยู่ทางด้านหลังของวัด) และให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่งระดมทําอิฐเผา (มีโคก ที่เรียกว่า โคกเผาอิฐ และตําบลบ้านท่าอิฐอยู่ ในเขตอําเภอโพธิ์ทองในปัจจุบัน) การสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ โคกบางพลับแห่งนี้ กินเวลานาน ๕ เดือนจึงแล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๕ ปี พ.ศ. ๑๘๗๐ สําเร็จเป็นองค์พระพุทธไสยาสน์ยาว ๒๐ วา สูง ๕ วา เมื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จแล้วขนานพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร” มอบให้ นายบ้านผู้ดูแลแต่งตั้งทาสไว้ ๕ คน แล้วเสด็จ นิวัติสู่กรุงสุโขทัย
พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร ถูกทอดทิ้งตากแดดตากฝนท่ามกลางป่ารกอยู่นาน การดูแลรักษาก็ไม่ได้กระทําต่อเนื่อง ในที่สุดก็ถูกทิ้งร้างมานาน กระทั่งกรุงสุโขทัยเสื่อมอํานาจลงและกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีอํานาจขึ้นมาแทนที่ ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ มีพระภิกษุทรงวิทยา ได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่กระทําวิปัสสนา กรรมฐาน โดยมีชาวบ้านมาช่วยกันสร้างเพิงพักให้เป็นที่จําวัด ต่อเนื่องกันมาเนิ่นนานจนถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในครั้งนั้นมีนายอากรตําแหน่งที่ขุนอินทประมูล นายบ้านบางพลับ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ กล่าวกันว่าขุนอินทประมูลนั้นเป็นคนจีนมีชื่อเดิมว่า เส็ง มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อนาก ไม่มีบุตรสืบตระกูล เป็นผู้ที่มีจิตศรัทธาฝักใฝ่ในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ปรารภว่าจะพยายามซ่อมสร้าง พระพุทธไสยาสน์และสร้างวัด ณ โคก วัดนี้ให้สําเร็จด้วยอุตสาหะแห่งตนให้จงได้ โดยเริ่มแรก ได้นําทรัพย์สินส่วนตัวที่เก็บออมไว้ประมาณ ๑๐๐ ชั่ง ออกมาสร้างวิหาร และเจดีย์ขึ้น ณ โคกใหญ่ด้านตะวันออกสําเร็จลงเรียบร้อย ต่อมาเห็นว่าพระพุทธไสยาสน์ทรุดโทรมลงทุกวัน องค์พระแทบพังทั้งหมด ทลายลงกองกับพื้นดิน จึงดําริถากถางป่าและซ่อมองค์พระพุทธไสยาสน์ ขึ้นใหม่รวมทั้งจัดสร้างหลังคาคลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้น โดยจัดทําเป็นเสาอิฐก่อเครื่องบน เป็นเครื่องไม้หลังคามุงด้วยหญ้าแฝกเป็นเครื่องกันแดดฝน ขยายองค์พระออกไปเป็นความยาว ๒๕ วา สูง ๕ วา ๒ ศอก การซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้นนับเป็นมูลค่าเงินหลายร้อยชั่ง ขุนอินทประมูลนําทรัพย์ส่วนตัวออกมาสร้างต่อจนสําเร็จ แล้วพยายามปกปิดไว้ไม่ยอมให้ข่าวแพร่งพรายไปถึงพระนครศรีอยุธยา แต่ข่าวก็เล่าลือไปถึงพระยาวิเศษไชยชาญ เจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญมีความเชื่อว่าขุนอินทประมูลได้นำเงินอากรของหลวงมาสร้างพระจึงนําเรื่องขึ้นกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมขึ้นมาไต่สวน แต่ขุนอินทประมูลปฏิเสธข้อกล่าวหา พระยากลาโหมจึงสั่งให้ราชทัณฑ์เฆี่ยน ๓ ยกเพื่อให้ยอมรับ แต่ขุนอินทประมูลยืนยันว่า ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ตนเก็บสะสมไว้ตั้งแต่ครั้งเริ่มรับราชการ ท้ายที่สุดขุนอินทประมูลยอมตายไม่ยอมให้พระศาสนาต้องมามัวหมองเพราะคำกล่าวหา ในที่สุดขุนอินทประมูลทนรับการลงทัณฑ์ไม่ไหวจึงได้เสียชีวิตลงเมื่อวันอังคาร เดือน ๕ พ.ศ. ๒๒๙๖ ประมาณอายุ ได้ ๘๐ ปีเศษ พระยากลาโหมกลับไปทูลความให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบความตามกราบทูล เสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อ พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดทรงโปรดให้ฝังร่างของขุนอินทประมูลไว้ใน เขตพระวิหาร ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ หลังจากทําพิธียกเกศทองคําหนัก ๑๐๐ ชั่ง พระราชทานประดับพระเกศมาลาพระพุทธไสยาสน์ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดขุนอินทประมูล” และ ถวายนามพระพุทธไสยาสน์ว่า “พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล” มีประวัติบอกเล่าตามคําบันทึกให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พม่าบุกเข้าปล้นเอาพระเกศทองคํา เผาพระวิหาร และองค์พระพุทธไสยาสน์เสียหายทั้งหมด เมื่อเสียกรุงแก่พม่าครั้ง ที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐

เรื่องราวของวัดขุนอินทประมูล และพระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูล ยังมิได้จบลงเพียงเท่านี้แต่หน้ากระดาษที่มีนั้นหมดลงเสียก่อน จึงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านที่เคารพและท่านที่ติดตามผลงานของ ARTMULET โปรดติดตามเรื่องราวกันต่อในสัปดาห์หน้า ขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามผลงานด้วยความเคารพ
มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

สำหรับท่านที่สนใจผลงานประติมากรรมต่างๆ ของทาง Artmulet

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

 Facebook Inbox : artmulet
Facebook Inbox : artmulet official
Line Id : @artmulet
เว็บไซต์: www.artmulet.com
และที่วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง T. 0925577511  

รายได้ร่วมจัดสร้างที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมและศาลาอเนกประสงค์ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง