สถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่กับประเทศไทยอีกยาวนาน การดูแลผู้ป่วยเพื่อไม่ให้กลุ่มสีเขียว กลายเป็นสีเหลืองและแดงคือการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทว่าในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยมีจำนวนมาก โรงพยาบาลในการรองรับการรักษารวมถึงบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการสร้าง
โรงพยาบาลสนามกระจายไปยังสถานที่ต่างๆให้มากที่สุดเพื่อให้ได้รับการรักษาและพบแพทย์แบบทางไกลผ่านการสื่อสารด้วยระบบสื่อสารที่ทันสมัย
ดังนั้นนอกจากเรื่องเตียง ยารักษาโรค และอาหารในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามแล้วสิ่งสำคัญคือการติดต่อสื่อสารกับแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม การดูแลผู้ป่วยเรื่องความปลอดภัย ผ่านกล้อง CCTV รวมถึงฟรีไวไฟสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ล้วนต้องได้รับการสนับสนุนและดูแลจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็มีโอกาสทำหน้าที่ให้สมกับการเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจริงๆ ด้วยการสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อให้โรงพยาบาลสนามสามารถให้บริการประชาชน ผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
***อาสานำศักยภาพระบบสื่อสารหนุนรพ.สนาม
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ระบุว่าในสถานการณ์เช่นนี้ NTต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยสรรพกำลังด้านบริการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ โดยได้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi โทรศัพท์ IP Phone รวมถึงกล้องวงจรปิด (CCTV)ให้บริการแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่โรงพยาบาลสนามทุกแห่งที่แจ้งความประสงค์เข้ามาที่ NTซึ่งปัจจุบัน NT ได้ดำเนินการติดตั้งให้บริการระบบสื่อสารให้แก่โรงพยาบาลสนามแล้วในหลายจังหวัดตามที่มีการขอรับการสนับสนุน
เริ่มจากการสนับสนุนระบบสื่อสารภายในโรงพยาบาลสนามที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ7รอบพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามสามารถรองรับได้ 280 เตียง แบ่งเป็นผู้ชาย 140 เตียงและผู้หญิง 140 เตียง ด้วยการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็ว 1000/500 Mbps จำนวน 2 วงจรและโทรศัพท์ IP Phone จำนวน 24 เลขหมาย
รวมถึงพื้นที่ในบริเวณปตอ.1 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน แจ้งวัฒนะ จำนวน 300 เตียง ซึ่งพบว่าสัญญาณโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่มีปัญหาในพื้นที่บางจุดซึ่งสัญญาณจะดรอป ลง ดังนั้นจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อขยายสัญญาณและ อุปกรณ์ Fixed Wireless Broadband ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตั้งง่ายทุกที่ไม่ต้องเดินสายที่ผ่านมาแม้ดำเนินการไปบ้างแล้วแต่จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์รองรับความต้องการใช้งานที่มากขึ้น
ปัจจุบัน NT ได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนามไปแล้วกว่า 100 แห่งทุกภาคของประเทศไทยในหลายจังหวัด อาทิจ.นครสวรรค์, จ.ฉะเชิงเทรา,จ.ขอนแก่น,จ.ประจวบคีรีขันธ์,จ.สงขลา,จ.เพชรบูรณ์ และ จ.สุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากอินเทอร์เน็ตแล้ว NT ยังมีการเพิ่มระบบ CCTV ติดตามอาการผู้ป่วย รวมถึงการส่งมอบอุปกรณ์ my 3G Router สำหรับติดตั้งประจำรถพระราชทานให้แก่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่และส่งมอบอุปกรณ์ my 3G Router ให้แก่ รพ.ลำปาง,รพ.ลำพูน,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกนอกจากนี้ NT ยังเข้าไปสนับสนุนระบบโทรคมนาคมพร้อมคอมพิวเตอร์ จำนวน 400 เครื่อง พรินเตอร์จำนวน 50 เครื่องที่ศูนย์ฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ ด้วย
***รุกช่วยเหลือรพ.สนามในกทม.
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ NT ต้องรีบสนับสนุนระบบโทรคมนาคมกับโรงพยาบาลสนามอย่างเร่งด่วนโดยล่าสุดได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการติดตั้งระบบสื่อสารโทรคมนาคมชั่วคราวครอบคลุมพื้นที่ศูนย์พักคอยในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 10 แห่งโดยเริ่มจากศูนย์พักคอยสถานีกลางบางซื่อ ด้วยการสร้างโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมชั่วคราวเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตรพร้อมติดตั้ง FTTx (ระบบเคเบิลใยแก้ว) จำนวน 7 วงจร AP (access point) 5 ตัวแบ่งเป็นในห้องวอร์รูม 1 วงจร สำหรับใช้เชื่อมกล้อง cctv 1 วงจร และบริเวณโรงนอนจำนวน 5 วงจรเพื่อให้บริการแก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงผู้ป่วยโควิด-19 ได้ใช้ในการปฏิบัติงานและรักษาตัวได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดย
ทั้งหมดนี้หวังผลให้ระบบทั้งหมดสามารถสนับสนุนภารกิจหลักของศูนย์ในการเป็นจุดรองรับผู้ป่วยติดเชื้อให้มาพักรักษาตัวแยกออกมาจากบ้าน ระหว่างรอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย CCTV Dome จำนวน 32 ตัว CCTV Bullet จำนวน 8 ตัว NVR 16 Ch (Network video recorder) จำนวน 2 ตัว NVR 8 Ch จำนวน 1 ตัว HDD (Hard Disk Drive) 4 TB จำนวน 5 ตัว Switch 16 Port จำนวน 3 ตัว ทีวี 43 นิ้ว จำนวน 3 ตัว Intercom Master จำนวน 1 ตัว และ Intercom Sub จำนวน 5 ตัวเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ดำเนินการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและสามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 400 เตียงได้อย่างเต็มศักยภาพ
ส่วนศูนย์พักคอยที่เหลืออีกจำนวน 10 แห่งประกอบด้วยศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน,ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์เขตจตุจักร, ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตจตุจักร,ศูนย์เยาวชน เขตดอนเมือง,ศูนย์พักคอยวัดมัชฌินติการาม เขตบางซื่อ,ศูนย์พักคอยส่งเสริมและสนับสนุน เขตลาดพร้าว1,ศูนย์พักคอยวัดราษฎร์นิยมธรรม เขตสายไหม,ศูนย์พักคอยส่งเสริมและสนับสนุน เขตลาดพร้าว2,ศูนย์พักคอยอาคารคลังสินค้าบริษัท อาร์ บี เอส โลจิสติกส์ จำกัด และศูนย์พักคอยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เขตหลักสี่
นอกจากนี้ NT ยังได้รับมอบหมายจาก ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอสให้ NT ประสานกับกรมการแพทย์เพื่อปรับปรุงระบบโทรสายด่วน 1668,1646 และเพิ่มคู่สายให้สามารถรองรับปริมาณการโทรจำนวนมากได้
ศักยภาพของ NT ในการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมแห่งชาติหลังจากการควบรวมทีโอทีและกสท โทรคมนาคมเป็นองค์กรเดียวกันแล้วทำให้เห็นได้ชัดว่าทรัพยากรที่ NT มีอยู่นั้นสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่ในเชิงธุรกิจที่ต้องหารายได้เท่านั้นแต่ในมุมของการช่วยเหลือสังคม NT ก็ทำงานได้เต็มศักยภาพเพื่อลดช่องว่างทางสังคมให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว