วันนี้ (22 ส.ค.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
เทศกาลสารทจีนของทุกปี ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจะใช้ทั้งอาหารคาว หวาน ผลไม้ เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ ขนมปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ รวมถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นต้น แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเลือกซื้อของเซ่นไหว้ทางออนไลน์ จึงเป็นทางเลือกช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรค แต่สิ่งที่ต้องระวังในการเลือกซื้อของเซ่นไหว้ทางออนไลน์นั้น ควรพิจารณาดังนี้ 1) เลือกชื้อจากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้ โดยดูจากการประกอบการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องระยะเวลานาน ชื่อเสียง และเสียงสะท้อนจากลูกค้าหรือรีวิว และควรเน้นช่องทางการติดต่อกับผู้ขายที่ชัดเจนและสะดวก เวลามีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า จะสามารถสอบถามหรือเปลี่ยนแปลงหรือคืนสินค้าได้ 2) เลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีการรับรองคุณภาพสินค้าหรือสามารถแลกเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้ ของเซ่นไหว้ที่เป็นอาหารต้องเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการส่งสินค้ามาแล้วไม่ได้คุณภาพ เช่น มีกลิ่น สีผิดปกติ มีลักษณะเหมือนจะบูดเน่า เช่น มีฟองก๊าซในอาหาร หรือมีร่องรอยเชื้อรา ก็สามารถคืนหรือเปลี่ยนได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อถัดมา คือ 3) เลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีช่องทางในการเก็บเงินปลายทาง หรือมีระบบการโอนเงินให้ผู้ขายหรือตัดยอดเงินให้ผู้ขายเมื่อได้รับสินค้าแล้ว เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่ส่งมาให้ จะได้ไม่เกิดปัญหาเสียเงินไปแล้วได้ของที่ไม่มีคุณภาพ และควรตรวจสอบสินค้าทันทีที่ได้รับ เมื่อผู้นำส่งมาส่งสินค้าควรตรวจสอบสินค้าทันที ซึ่งของเซ่นไหว้ที่เป็นอาหาร ควรอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด เรียบร้อย หรือบรรจุแบบสูญญากาศ ควรระบุวันผลิตและวันหมดอายุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ หากบรรจุภัณฑ์ชำรุด ฉีกขาด ไม่ควรรับของ และควรสังเกตของเซ่นไหว้ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ว่า สี กลิ่นผิดปกติหรือไม่ ที่สำคัญควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังแกะบรรจุภัณฑ์ด้วย
"ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ทำพิธีเซ่นไหว้ภายในครอบครัว ขอความร่วมมือให้คนในบ้านสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างระหว่างกัน หรือใช้วิธีวิดีโอคอลหากันในกลุ่มเครือญาติระหว่างทำพิธีเซ่นไหว้ และเลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน สำหรับผู้สูงอายุ ให้แยกสำรับกับข้าวของผู้สูงอายุแยกกับคนอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ภายในครอบครัว เน้นการปรุงประกอบอาหารให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง แต่หากกินไม่หมด ก่อนนำมากินควรอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง นอกจากนี้ ควรลดหวาน มัน เค็ม ส่วนขนมหวานให้บริโภคแต่พอดี เพราะมีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก หากกินน้ำตาลหรืออาหารหวานมากเกินไป จะส่งผลให้มีน้ำหนักเกิน และทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ สำหรับขนมเทียน ขนมเข่ง ควรกินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพราะมีความเหนียว เคี้ยวยาก อาจทำให้ติดคอได้ง่าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว