͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิชาการเกษตร อบรมโดรนเพื่อการเกษตร รองรับการก้าวเข้าสู่ เทคโนโลยี “เกษตรอัจฉริยะ”  (อ่าน 127 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ deam205

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 15570
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เปิดเผยว่า จากแนวทางนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำนวัตกรรม/เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมของประเทศและของโลก มาถ่ายทอดให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการผลิตและการต่อยอดงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และ ครอปไลฟ์ เอเชีย จัดการฝึกอบรมหลักสูตร "การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ทางการเกษตร (UAV) และ การประมวลผลภาพ (Image processing)” ขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในกฎระเบียบของเทคโนโลยี UAV ทางการเกษตรในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและปลอดภัยในระดับสากล โดยหลักสูตรการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่

- การศึกษาข้อบังคับและกฎหมายของการใช้โดรน ผู้ใช้โดรนจะได้ทราบขั้นตอนและวิธีการขึ้นทะเบียนโดรนเกษตร การขออนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับอากาศยานไร้คนขับ และพ.ร.บ.วัตถุอันตรายทางการเกษตร

- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Image Processing กับงานด้านอารักขาพืช เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชด้วยการใช้โดรนทางการเกษตร กรณีการศึกษาการเข้าทำลายของไรแดงแอฟริกันในทุเรียน ที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาให้ผู้เข้าอบรม

- การใช้งานและการประยุกต์ใช้ UAV ทางการเกษตร โดยการวางกฎระเบียบการใช้ โดรนด้านการเกษตร แลกเปลี่ยนมุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาโดรน และการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยจากประสบการณ์จริง

- การศึกษาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยโดรนการเกษตร เพื่อเป็นอาวุธลับให้เกษตรกรและผู้ใช้โดรน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย



อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV เข้ามามีบทบาททางการเกษตรในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่เกษตรกร หรือนักวิจัย ใช้ในกระบวนการการผลิตและวิจัย เพื่อรองรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ในยุคที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาสร้างตลาดและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตรพยายามขับเคลื่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาคการเกษตร อาทิการใช้เซนเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น กล้อง RGB กล้อง MULTISPECTRAL เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม ตรวจวัดดิน/น้ำ พร้อมทั้งปรับรูปแบบของการบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล ให้อยู่ในรูปแบบของ Digital Data บน Platform เดียวกัน เพื่อการเชื่อมโยงงานด้านการเกษตรเข้ากับงานด้านไอที และเครื่องจักรกลการเกษตร นำไปสู่การประมวลผลและสั่งการการทำงานของอุปกรณ์/เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งการอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation จากภาคการเกษตร สำหรับการเตรียมความพร้อมของนักวิจัย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้มีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก นายศรุต กล่าวสรุป



ด้าน นาย เจอริโก เบอนาบี แกสกอน นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ทำกินของคนในประเทศ และเป็นหัวใจหรือหลอดเลือดของเกษตรกร จากอดีตจนถึงปัจจุบันเกษตรกรมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมาย มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นตัวช่วยให้การทำงานรวดเร็ว และสะดวกสบายมากยิ่ง จวบจนปัจจุบัน “โดรน” หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมในภาคอุตสาหกรรมเกษตร มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสมกับโลกการผลิตให้เป็นจริงในระดับประเทศ ในยุคของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดรนกลายเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถนำประโยชน์มาสู่เกษตรกรอย่างมากมาย เช่น การประหยัดแรงงาน ลดการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน ลดต้นทุนของเกษตรกร มีความคุ้มทุน คล่องตัว รวดเร็ว ประหยัดเวลา รวมทั้งมีความแม่นยำและลดความสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ใช้โดรนอีกด้วย และในอนาคต “โดรน” อาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญของเกษตรกรไทย ที่ทำให้ทุกคนให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้อย่างมีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เป้าหมายในการฝึกอบรมดังกล่าว คือ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบและการขึ้นทะเบียน ความปลอดภัย ตลอดจนการนำเทคโนโลยี และภาควิชาการของโดรนทางการเกษตรไปใช้ในทุกแง่มุม จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ครอปไลฟ์ เอเชีย กำลังผนึกกำลังกับรัฐบาลทั่วเอเชีย ในการเพิ่มความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเกษตร ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นในการสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งมอบเทคโนโลยีโดรนให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เกษตรกร รวมทั้งนักศึกษาหรือผู้ว่างงานได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถเสริมสร้างอาชีพ เกิดรายได้ พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)” อย่างมีประสิทธิภาพได้ในวงกว้าง นาย เจอริโก กล่าวทิ้งท้าย



สำหรับผู้สนใจหลักสูตร "การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนทางการเกษตร (UAV)” รวมถึงการขอข้อมูลเกี่ยวกับโดรนทางการเกษตรในงานด้านอารักขาพืช สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-4115, 02-579-1061 ต่อ 162 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https:// web.facebook.com/PATRS.DOA/ และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https:// www.facebook.com/taitacroplifethailand