การสัมมนา “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” จัดโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 ผ่านระบบซูมได้ระดมความเห็นภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำหนด
แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19
ส.อ.ท.แนะรีบตรวจเชื้อแยกผู้ป่วย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การรีสตาร์ทประเทศต้องพูดได้ว่าเครื่องยนต์ของเราหลวมหมดแล้ว การติดเครื่องอีกครั้งคงทำได้ลำบาก เพราะอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยวยังไม่ดี แม้ว่าการส่งออกไปได้
ดังนั้น ส.อ.ท. มองว่า การมีเครื่องตรวจเชื้อโควิดแบบ “แรบิดแอนติเจน เทสต์” ก็เป็นตัวช่วยที่ดี และรัฐจะต้องรีบจัดการในเรื่องนี้ ซึ่ง ส.อ.ท.เองก็เตรียมสั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมได้มีโอกาสตรวจเชื้อ และจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลด้วย เพราะหากพบว่ามีการติดเชื้อก็จะส่งผลให้เกิดการกักตัวในภาคการผลิตทำให้การทำงานของภาคอุตสาหกรรมสะดุดลง และเท่าที่หารือกันในอุตสาหกรรมต่างๆปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว
เตรียมประเทศให้พร้อมรับลงทุน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งหากวันนี้ ไทยไม่มีโควิดเชื่อว่า การลงทุนจะเข้าสู่ไทยจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งแก้ความยาก–ง่ายในการทำธุรกิจ (อีส ออฟ ดูอิ่ง บิสซิเนส) โดยปรับกฎเกณฑ์ภาครัฐจากการกำกับดูแลมาเป็นการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร การนำเข้า-ส่งออก ควรแก้ไขให้ทันสมัย
อย่างก็ตาม ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ตั้งทีมงาน 5 คณะ เพื่อมาร่วมแก้ไขปัญหากับภาครัฐทั้งเรื่องรักษาด้านเยียวยาและป้องกัน ซึ่งเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาในอนาคต เพราะมองว่าเรื่องของวัคซีนและการระบาดยังอีกยาวต้องเตรียมพร้อมอยู่ร่วมกันไม่เสียหายไปมากกว่านี้
“ค้าปลีก”แนะฉีดยาให้ตรงจุด
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรีสตาร์ทเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการต้องโฟกัส 4 เรื่อง ได้แก่
1.ทำให้ตัวเบาที่สุดอยู่ได้ยาวที่สุด โดยเร่งจัดการระบายสต็อก เพื่อ “กอดเงินสด”
2.กอดเงินสดให้ได้มากที่สุดเพราะอนาคตธนาคารอาจไม่ปล่อยสินเชื่อแม้มีเครดิต
3.ก่อนเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมอง “ดีมานด์ลูกค้าในไทย” ซึ่งมีอยู่แม้น้อยลงและยากขึ้น แต่ต้องหาให้เจอด้วยทุกกลยุทธ์ใหม่ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ทุกรูปแบบเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า
4.ผู้ประกอบการค้าปลีกร่วมกันตรึงราคาสินค้านานที่สุดและทำให้สินค้าไม่ขาดตกบกพร่อง
“รัฐต้องฉีดยาให้ตรงจุดจะได้ไม่เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ ความมั่นใจ และจะปลดล็อกเงินในกระเป๋าของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อออกมาใช้จ่ายได้อย่างไร ซึ่งมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ถือว่าดี แต่มีความซับซ้อน ไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายของกลุ่มคนมีเงิน"
มั่นใจหลังวิกฤติเข้มแข็งขึ้น
นายญนน์ กล่าวว่า เวลานี้เศรษฐกิจอัมพาตไปครึ่งตัว เพราะ 3 เสาหลัก ภาคการผลิต ท่องเที่ยว และค้าปลีก ที่มีความเชื่อมโยงกันโดยตรงได้รับผลกระทบหนักเมื่อภาคหนึ่งกระทบจะเป็นโดมิโนเอฟเฟคท์กับ 2 ภาคที่เหลือ
เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ต่างชาติกลับเข้ามาเยือนไทยจากนั้นเชื่อว่าภาคเอกชนจะเดินหน้าจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อจะเกิดขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจไทยฟื้นตัวกลับมา และเดินเครื่องได้เกิน 100%
“หากเราผ่านวิกฤติซ้อนวิกฤติครั้งนี้ไปได้จะแข็งแรงยิ่งขึ้นประเทศไทยมีความพร้อมหลายอย่าง อยู่ในท็อปส์อินดัสทรีระดับโลก โดยเฉพาะรีเทล เราอยู่ใน ท็อป 10-15ไม่ธรรมดา เราพยายามพลิกตัวเอง ซ้อมอย่างเต็มที่ เมื่อโลกเปิดน่าจะเป็นแต้มต่อที่ดี”
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท). กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการระบาดซ้ำหลายระลอกส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ภาวะขึ้นลง และแนวโน้มภาคท่องเที่ยวปี 2564 ต่อเนื่องปี 2565 ยังเสี่ยงจากระบาดซ้ำ
ด้านแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เมื่อ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 6,052 คน ลดลงจากปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน เฉลี่ย 3 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มี 3.6 ล้านคน-ครั้ง น้อยกว่าปีปกติซึ่งเฉลี่ย 10 ล้านคน-ครั้งต่อเดือน ด้านอัตราเข้าพักของโรงแรมเดือน มิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 7.89% เท่านั้น ต่ำกว่าประมาณการณ์จุดวิกฤติของภาคธุรกิจโรงแรมซึ่งอยู่ที่ 28%
ต่างชาติเริ่มเที่ยวไทยชัดไตรมาส 4
ททท.มองว่าถ้าคุมการระบาดได้ดีและเร็ว การกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผน จะทำให้คนไทยมั่นใจเที่ยวอีกครั้ง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นพื้นที่ไหนพร้อมก็ทยอยเปิด และจะเริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปีหน้า โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ ททท.คงเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 100 ล้านคน-ครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ล้านคน สร้างรายได้รวม 8.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4-5% จากปีที่แล้ว ส่วนปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ตลาดในและต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% ของรายได้ปี 2562 ซึ่งปิดที่ราว 3 ล้านล้านบาท
“มอบให้สำนักงาน ททท.ในต่างประเทศทำการตลาดเพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่อยู่ในใจนักท่องเที่ยว อีกสิ่งสำคัญ คือ การวิเคราะห์คู่แข่งเพราะแม้มีโควิดแต่ประเทศต่างๆ ไม่หยุดทำตลาด”