นายกรัฐมนตรีสั่งนำโครงการพัฒนาต้นแบบนโยบาย 3 กลุ่ม จากหลักสูตร ป.ย.ป. ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก/กลุ่มการเตรียมพร้อมการเปิดประเทศ/กลุ่มพัฒนาทักษะกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงวัย ปฏิบัติให้ได้ผลจริง
เน้นให้ถอดบทเรียนจากหลักสูตรเป็นต้นแบบ เพื่อบูรณาการการทำงานของภาครัฐโดยเร็วต่อไป
วันนี้ (22 กันยายน 2564) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวกลาโหม เป็นประธานรับฟังการนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย ภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จัดโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อต้นแบบนโยบายของผู้เข้าร่วมหลักสูตร และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมตรี ร่วมรับฟังการนำเสนอฯ ด้วย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้เข้าร่วมหลักสูตรที่ร่วมกันบูรณาการงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมมอบนโยบายให้แก่ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป. เร่งรัดการทำงานให้ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติอย่างทั่วถึง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันภาครัฐต้องเดินหน้าด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ถูกต้องและเหมาะสมมาใช้ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับการนำ Agri-Map มาใช้ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตร ผลผลิต และการวางแผนการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด รวมทั้งนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่แปลงเล็ก เน้นการทำการเกษตรแบบเกษตรแปลงรวม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งใช้กลไก คทช. ในการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำประโยชน์โดยใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ได้ประโยชน์มาก ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรถึงความจำเป็นในการจัดทำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และมีมาตรฐาน GAP เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงคมนาคมดูแลเชื่อมต่อการขนส่งในพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศให้เร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศให้สามารถท่องเที่ยวได้ทุกช่วงฤดูกาล และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่แทนการกักตัว รวมถึงการคัดกรองการเข้าออกประเทศที่ต้องพัฒนาขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวกรวดเร็ว จำกัดพื้นที่เคลื่อนย้ายที่เหมาะสมสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและแรงงาน โดยเห็นควรให้มีการพัฒนา Digital Platform โดยนำข้อมูลแต่ละจังหวัดเข้ามาเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน
โอกาสนี้ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. รายงานผลการดำเนินการตามหลักสูตร ป.ย.ป. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ มีการนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เศรษฐกิจฐานราก เสนอการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม โดยนำข้อมูล Big Data เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างเหมาะสมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและหาช่องทางตลาดให้แก่สินค้าทั้ง Online และ Offline โดยกำหนดพื้นที่ต้นแบบ คือ ด่านทับตะโก Model จังหวัดราชบุรี กลุ่มที่ 2 กลุ่มการเตรียมพร้อมการเปิดประเทศ เสนอแผนการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศเมื่อมีการเปิดประเทศ มีเป้าหมายในการกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยว และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาทักษะกลุ่มเปราะบางและผู้สูงวัย นำเสนอแนวทางการนำฐานข้อมูลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่นำร่อง โดยเน้นกลุ่มเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและกลุ่มผู้สูงอายุ และสำรวจความต้องการของกลุ่มดังกล่าวมาประกอบการจัดทำหลักสูตร/การอบรมวิชาชีพที่สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีพื้นที่ต้นแบบคือ “หนองกะท้าว Sandbox” จังหวัดพิษณุโลก
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผลการพัฒนาต้นแบบของทั้ง 3 กลุ่ม โดยเห็นควรให้มีการขยายผลการพัฒนาเชื่อมต่อกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และส่งต่อต้นแบบนโยบายนี้ให้กระทรวงมหาดไทยและจังหวัดได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประเทศในข้อเสนอ “เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดใจ เปิดประเทศ” และให้มีการสื่อสารสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในทุกภาคส่วน
ในช่วงท้ายของกิจกรรม นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการประเมินผลและถอดบทเรียนเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงโดยเร็ว พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนำทุกข้อเสนอในวันนี้ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง มีการบูรณาการทำงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องหลังจากจบหลักสูตรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศต่อไป
อนึ่ง การนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบาย ภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จัดขึ้นในรูปแบบ Online โดยมีผู้เข้าร่วมหลักสูตร ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งเข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป.1 จำนวน 15 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมหลักสูตร ป.ย.ป.2 และหลักสูตร ป.ย.ป.4 รวมทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งหลักสูตร ป.ย.ป. มีความแตกต่างจากหลักสูตรฝึกอบรมอื่น ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (On the job training) และมีการบูรณาการงานระหว่างกระทรวงเพื่อพัฒนาต้นแบบนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้นำต้นแบบนโยบายไปทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะช่วยลดการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) ในขณะที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป