นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ คาดว่า DTCENT จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลายเดือนต.ค. 65 หรือต้นเดือนพ.ย. 65 หลังจากบริษัทเดินสายให้ข้อมูล (โรดโชว์) แก่
นักลงทุนไปแล้วในวันนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และให้ความสนใจในศักยภาพของบริษัท
DTCENT จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 305 ล้านหุ้น โดยเป็นการเพิ่มทุนจาก 900 ล้านหุ้น เป็น 1,205 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.31% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO
นายทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ DTCENT เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้รับการจากการระดมทุนครั้งนี้ส่วนหนึ่งไปใช้ลงทุนสร้างศูนย์บริหารจัดการและบริการข้อมูลยานพาหนะ (Vehicle Monitoring and Support Center) ราว 70 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 66 เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ GPS ที่สามารถสร้างรายได้เสริมและเป็นรายได้ประจำเข้ามาให้กับบริษัท และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ เพื่อรองรับสำหรับการประมูลงาน การซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเงินมัดจำในการเข้าประมูลงาน
"การเข้าตลาดฯในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของ DTCENT ให้เรามีความมั่นคงด้านฐานการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น และด้วยประสบการณ์ของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 25 ปี รวมถึงมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าในอนาคตบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น" นายทศพล กล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มของงานใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับงานด้านระบบการติดตามที่ใช้ GPS บริษัทยังมีโอกาสเข้าไปประมูลงานได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐระดับเทศบาล ได้แก่ อบต. และ อบจ. เป็นต้น ซึ่งบริษัทคาดว่าในช่วงปลายปีนี้หน่วยงานภาครัฐระดับเทศบาลจะมีเริ่มเปิดประมูลงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ชะลอไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทจึงคาดหวังจะได้รับงานเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทในระดับชั้นนำเข้ามาถือหุ้น ได้แก่ บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) ที่ถือหุ้น DTCENT อยู่ที่ 18% และ บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (BRS) ถือหุ้นอยู่ที่ 15% ซึ่งจะช่วยนำพาบริษัทไปขยายธุรกิจในต่างประเทศได้ในช่วง 3-5 ปี เน้นในภูมิภาคอาเซียนที่พันธมิตรมีการลงทุนและมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ และเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเข้าไปรุกตลาดและมีช่องว่างทางธุรกิจ
ขณะที่ตลาด GPS Tracking ในประเทศไทยเองก็ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากการที่กฎหมายจะเข้ามาควบคุมให้มีการติดตั้งระบบ GPS Tracking ในรถบรรทุกขนนส่งทุกคัน คาดว่าจะต้องมีการติดตั้ง GPS ในรถบรรทุกเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคัน จากปัจจุบันที่ติดไปเพียง 500,000 คัน ทำให้ยังมีโอกาสในการเติบโตสูง
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบ SMART CITY SOLUTION หรือระบบบริหารการจัดการองค์กรส่วนท้องถิ่น, BAMS (Business Activity Management System), BIM (Building Information Modeling), EV Platform, Logistics Demand-Supply Matching Platform และระบบ AI สำหรับงาน IoT ที่จะเป็นอนาคตของเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเริ่มมีการใช้มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีการให้บริการที่ครอบคลุมรองรับ
นายทศพล กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลของการดำเนินงานในปี 65 บริษัทคาดว่ากำไรจะเติบโตได้ราว 10-15% จากการฟื้นตัวขึ้นหลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปแล้ว ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน เริ่มกลับมาลงทุนในการติดตั้งระบบ GPS ทำให้เริ่มมีงานใหม่ๆเข้ามา ผลักดันให้ผลการดำเนินงานฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ทั้งนี้ รายได้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 65 เติบโตขึ้นมาที่ 324.61 ล้านบาท จากช่วง 6 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 288.18 ล้านบาท โดยบริษัทได้รับงานที่เข้ามามากขึ้น ทำให้บริษัทมั่นใจในการกลับมาเติบโตอย่างมีศักยภาพ
ขณะที่นายเอกจักร กล่าวอีกว่า จุดเด่นของ DTCENT อยู่ที่โอกาสการเติบโตของตลาด GPS Tracking และ IoT ที่มีการเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี และเป็นธุรกิจที่สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูงราว 50% โดดเด่นมากกว่าธุรกิจอื่นๆ รวมถึงบริษัทยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ต่ำ 0.48 เท่า และหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า สะท้อนภาพความแข็งแกร่งของบริษัท และหลังจากได้เงิน IPO ไปแล้วจะทำให้ D/E ลดลงอีก
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนด้วยการติด silent period โดยเฉพาะบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด ที่ติด silent period 100% และบริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น ที่ติด silent period 50% ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายหุ้นออกมาในวันเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก
"ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ ถือเป็นหนึ่งในหุ้นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตลาดเป็นบริษัทที่นักลงทุนจะสามารถเข้ามาลงทุนได้ จากศักยภาพการเติบโตของตลาด GPS และ iot อีกทั้ง บมจ.ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ ยังเป็นเบอร์ 1 ด้าน GPS ซึ่งมีศักยภาพในการคว้างานใหม่ๆเข้ามา และขยายตลาดได้มากขึ้น ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำที่ถือหุ้นในบริษัท จึงทำให้มั่นใจในศักยภาพการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง" นายเอกจักร กล่าว