คุณทศพล คุณะเพิ่มศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่, คุณจิราพร ลายลักษณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) DTCENT พร้อมด้วย คุณเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ในการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน (IPO) จำนวน 305 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.31 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยเป็นการจัดโรดโชว์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดหลักทรัพย์แก่นักลงทุน เพื่อแนะนำภาพรวมของ
การดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์การเติบโต และแผนขยายการลงทุนในอนาคตให้แก่นักลงทุนที่สนใจ พร้อมความคืบหน้าในการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในเร็วๆนี้ โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างคึกคัก และงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
กสม.ห่วงดีล TRUE-DTAC ผูกขาด แนะกสทช.ยึดประโยชน์ปชช.-เปิดรายงานที่ปรึกษา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการหรือไม่ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ว่า กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของ TRUE และ DTAC มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อ กสม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565
โดย กสม. เห็นว่าบริการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน การควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นกิจการประเภทเดียวกัน อาจเข้าข่ายเป็นการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกหรือมีทางเลือกน้อยลง โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มชายขอบ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม (สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่) และมีรายได้น้อยอยู่แล้ว อาจต้องเสียค่าบริการในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาควบรวมกิจการบริษัทโทรคมนาคมทั้ง 2 แห่ง ดังนี้
1. ขอให้ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 60 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
2. ขอให้เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช. จัดจ้างให้มีการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคต่อสาธารณะ และนำผลการศึกษามาประกอบการพิจารณาด้วย
3. ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ไม่ผูกขาดอำนาจเหนือตลาด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป