พาณิชย์ช่วยนักเขียนไทย
ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในกัมพูชาสำเร็จ หนุนนโยบาย Soft Power
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีนิยายไทยของนักเขียนเจ้าของนามปากกา "แสตมป์เบอรี่" และ "ปุยฝ้าย" สำนักพิมพ์แจ่มใส ถูกละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศกัมพูชา โดยนำนิยายดังกล่าวไปแปลเป็นภาษากัมพูชาและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงเร่งประสานไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ และกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (Department of Copyrights and Related Rights) กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรม ประเทศกัมพูชา เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือแก่สำนักพิมพ์แจ่มใส และนักเขียนไทย
นายสินิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกรมลิขสิทธิ์ฯ ประเทศกัมพูชา โดยเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้ลบเนื้อหานิยายที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไทยออกจากเว็บไซต์และ Facebook พร้อมเผยแพร่คำขอโทษต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการบรรเทาความเสียหาย สร้างความเชื่อมั่น และสร้างกำลังใจให้นักเขียนไทยในการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ที่มีคุณภาพออกสู่สายตาคนไทยและคนต่างชาติ
"กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย soft power ส่งเสริมการเจรจาซื้อขายงานลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมไทยสู่ตลาดต่างประเทศต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม" รมช.พาณิชย์ ระบุ
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นเครื่องมือหรืออาวุธทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางการคุ้มครองที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การอนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การจัดทำสัญญากับคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง โดยสามารถศึกษาตัวอย่างข้อสัญญาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่กรมฯ จัดทำและเผยแพร่บนเว็บไซต์
www.ipthailand.go.thทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินหน้าทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) โทร. 02-5475026
ด้านผู้ประกอบการไทย ได้แสดงความขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้ความช่วยเหลือและดำเนินการเชิงรุก สามารถยุติปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างโอกาสและความมั่นใจในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ในตลาดต่างประเทศ อันช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน