เกษตรฯ-พาณิชย์ หารือแนวทาง
แก้ปัญหาราคาปุ๋ยเคมี-วัตถุดิบอาหารสัตว์-ผลไม้
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ราคาและการนำเข้า-ส่งออก ทั้งในส่วนของปุ๋ย อาหารสัตว์ และผลไม้
สำหรับเรื่องราคาปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันหามาตรการที่จะช่วยในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาในเรื่องต้นทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับราคาปุ๋ยสูงขึ้น ก็จะหาช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยในราคาถูกได้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตประมาณ 3.2 ล้านตัน เพื่อเป็นมาตรการเสริมใช่ช่วงปุ๋ยแพงต่อไป
ส่วนเรื่องการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้ง 2 กระทรวงได้ร่วมหารือถึงตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน ซึ่งทูตเกษตรฯ ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของจีนอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจีนยังคงยึดมาตรการ Zero Covid โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีมาตรการควบคุมทั้งคนและการขนส่งสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเป็นมาตรการทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ในส่วนของสินค้าที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น เช่น ผลไม้ จะต้องถูกตรวจ 3 อย่าง และต้องได้รับใบรับรอง ได้แก่ ใบรับรองผ่านตรวจสอบกักกัน ใบรับรองผลตรวจโควิด และใบรับรองการผ่านการฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลไม้ของไทยสามารถส่งออกไปจีนได้
นอกจากนี้ ได้หารือถึงวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง) ที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสมาคมต่างๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อเสนอความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยให้มีการชะลอมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ไว้ชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 รวมถึงต้องกำหนดปริมาณที่จะนำเข้าว่าไม่เกินเท่าไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการตั้งคณะทำงานวงเล็กเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เข้าร่วมด้วย เพื่อให้ข้อมูลตัวเลขสำหรับใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป