รฟท.สรุป
แก้สัญญาไฮสปีดเทรนกลุ่มซีพีลงตัว คาดจบในมี.ค. ก่อนเสนอครม.เห็นชอบ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัดในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อแก้ไขสัญญา จะได้ข้อยุติในเดือนมี.ค.นี้ หลังจากได้ขยายกรอบเวลาในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ออกไปถึงวันที่ 24 เม.ย. 65 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ผู้โดยสารลดลง และเอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ในวันที่ 24 ต.ค.64 ได้ และคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการแก้ไขสัญญาได้ตามกำหนด
"หลักการถือว่าจบแล้ว หากกพอ.เห็นชอบ ก็แก้ไขสัญญาได้ทันที แต่หาก กพอ.มีความเห็นเป็นอย่างอื่น รฟท.จะยึดตามกพอ. โดยจะไม่มีการเจรจากับเอกชนแล้ว เพราะที่ผ่านมา หากเรื่องที่เอกชนเสนออธิบายทางการเงินได้ รัฐไม่เสียหาย รัฐรับฟัง และหากเอกชนไม่รับตามความเห็นกพอ.หรือใดๆ รฟท.พร้อมเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เอง" นายนิรุฒ กล่าว
ทั้งนี้ เอกชนเสนอขอเวลาในการฟื้นผู้โดยสารระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม ที่ รฟท.ไม่เสียหายหรือเสียประโยชน์ใดๆ ซึ่งเอกชนได้ชำระตาม MOU มาแล้ว 10% โดยเจรจาว่าหากโควิด-19 สิ้นสุด จะกลับสู่การชำระตามสัญญา แต่จะต้องหาคำนิยาม "โควิดสิ้นสุด" ที่ตรงกัน เช่น ประกาศ ศบค. เป็นต้น
ขณะที่ รฟท.มีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยให้ทาง บ.เอเชีย เอรา วัน เป็นผู้ก่อสร้างส่วนของโครงสร้างร่วม ออกแบบรองรับมาตรฐานรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 250 กม./ชม. โดยมีค่าก่อสร้างอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท ซึ่งรัฐไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างเพิ่มนี้ เนื่องจากในการเจรจรแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะดำเนินการให้ โดยเอเชีย เอรา วัน ขอปรับเงื่อนไขสัมปทาน โดยให้รฟท.เริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น จากที่กำหนดไว้เดิมในปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) เป็นไม่เกินเดือนที่ 25 และลดระยะเวลาลงจาก 10 ปี
ทางที่ปรึกษาทางการเงิน EEC ได้ศึกษาวิเคราะห์ และได้หารือกับสำนักงบประมาณ กรณีที่รัฐต้องจ่ายคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น เพื่อพิจารณาทางทางเลือกที่ดีที่สุดกับรัฐและเป็นธรรมกับเอกชน ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าดอกเบี้ยแลัว รัฐยังไม่ต้องจ่ายค่าก่อสร้างโครงสร้างร่วม สามารถเร่งรัดรถไฟไทย-จีน ให้เปิดได้ตามเป้าหมายปี 70-71