พาณิชย์ เดินหน้า
ยกระดับมาตรฐานแฟรนไชส์ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดธุรกิจแฟรนไซส์ในประเทศไทยมีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแฟรนไชส์เป็นระบบธุรกิจที่มีการบริหารจัดการได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ที่กำลังมองหาและอยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่สนใจเลือกแฟรนไชส์เป็นธุรกิจเริ่มต้น โดยระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แม้ว่าผู้ลงทุนจะไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจมาก่อน แต่ผู้ขายแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) จะเป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) และเป็นที่ปรึกษาให้ตลอดการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงทำให้แนวโน้มของตลาดแฟรนไชส์ไทยยังคงมีอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นต้องดูว่าธุรกิจนั้นๆ มีมาตรฐานมามากน้อยเพียงใด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานจะเป็นรากฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป ดังนั้นมาตรฐานแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญ คือ ระบบการปฏิบัติงาน คุณภาพของสินค้าและมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และ แฟรนไชส์ซี องค์ประกอบเหล่านี้คือ เกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ที่เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตได้หรือไม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรม "ปั้นแฟรนไชส์มาตรฐาน สร้างรายได้ ขยายโอกาสธุรกิจปี 2565" ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการเป็นรายธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การตรวจประเมินมาตรฐาน พร้อมทั้งเสริมในเรื่องของการศึกษาดูงานธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบที่ดี
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการต้องจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบนิติบุคคล และประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 3 สาขา และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้งโครงการ โดยเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.65
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์เข้าสู่มาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ.65) มีธุรกิจแฟรนไชส์เข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินจากกรมฯ แล้วทั้งสิ้น 477 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ 1) ธุรกิจอาหาร จำนวน 205 ราย 2) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 93 ราย 3) ธุรกิจการศึกษา จำนวน 65 ราย 4) ธุรกิจบริการ จำนวน 58 ราย 5) ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 24 ราย และ 6) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 32 ราย