ข้อ 1:
ตั้งราคาขายตามใจฉัน ผู้ขายต้องทำความเข้าใจและตระหนักเสมอว่าการตั้งราคาขายที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ขายต้องศึกษาและเปรียบเทียบราคาตลาด พิจารณาสภาพเศรษฐกิจหรือสถานการณ์แวดล้อมในเวลานั้น ๆ อาทิ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้ ที่มีบ้าน/คอนโดฯ ที่ตั้งราคาสูงจนเกินไปอาจจะปล่อยขายได้ยากหรือปล่อยขายไม่ได้เลย ในขณะเดียวกัน การตั้งราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาดถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้สนใจเข้ามาติดต่อผู้ขาย ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสนอที่ราคาอยู่ใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาของตลาดได้ และหากราคาขายที่คุณตั้งถูกกว่าของประกาศอื่น ๆ ในประกาศซื้อขายบ้านบนหน้าเว็บไซต์ เป็นไปได้ว่าประกาศของคุณอาจจะโดนคลิกเข้ามาชมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาขายสามารถอ้างอิงราคาประเมินของราชการ, องค์กรอิสระหรือสถาบันทางการเงิน หรือเช็กราคาตลาด/ราคาซื้อขายจริงบนทำเลนั้น ๆ จากเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง DDproperty ซึ่งมีรายงานแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ในรอบไตรมาส และรอบปีให้ศึกษาด้วย แต่ทั้งนี้ก่อนตั้งราคาขายจะต้องไม่ลืมคำนวณค่าเสื่อมราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศขายด้วย
ข้อ 2: สามารถปิดซ่อนปัญหาเกี่ยวกับตัวบ้านได้มิด ปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยจะปิดอย่างไรก็ไม่มิด 100% เพราะผู้ซื้อและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในวันนี้ศึกษาทำการบ้านอยู่ตลอดเวลาจากหลายช่องทาง ทั้งจากเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยหรือประสบการณ์ตรงที่มีผู้แชร์บนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ แม้ผู้ขายจะพยายามปกปิดดีอย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านั้นอาจถูกค้นพบเมื่อถึงช่วงตรวจสอบบ้านจากผู้ซื้อ (House Inspection) ซึ่งปัจจุบันมีวิศวกรและบริษัทตรวจรับบ้านให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ หากตรวจพบปัญหามากกว่าที่คิดอาจทำให้ผู้ซื้อเกิดความไม่ไว้วางใจว่าผู้ขายตั้งใจปิดบัง และยุติการซื้อขายได้ ดังนั้น ผู้ขายควรหาทางออกโดยการเลือกซ่อมแซมจุดเสียหายที่พบทันที หรือตั้งราคาขายต่ำกว่าตลาดเนื่องจากปัญหาข้อเสียหายที่เกิดขึ้น หรือตั้งราคาขายปกติแต่ทำสัญญากับผู้ซื้อว่า ผู้ขายจะทำการออกค่าใช้จ่ายเองหากเกิดกรณีซ่อมแซมในจุดเสียหายที่ตรวจเจอ หรือตั้งราคาขายตามสภาพของบ้านในเวลานั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายได้ในภายหลัง เพราะผู้ขายอาจจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด หากสภาพบ้านไม่เป็นไปตามในสัญญาซื้อขายที่ระบุ