กรมประมง หนุนผู้ประกอบการ-เกษตรกรผลิตสัตว์น้ำปลอดภัยไร้โควิด-19
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของระบบการผลิตสินค้าสัตว์น้ำทั้งห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ
เชื้อไวรัสโควิด-19 จึงกำหนดมาตรฐานเฉพาะกิจเพิ่มเติม จากมาตรฐานสุขอนามัยครอบคลุมในทุกกระบวนการของการตรวจสอบ ตั้งแต่การขนส่งจากแหล่งจับ แหล่งเลี้ยง แหล่งกระจายสินค้า จนกระทั่งการเข้าสู่ระบบจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าสัตว์น้ำว่า มีกระบวนการจัดการที่มีคุณภาพและปลอดภัย
สำหรับในปีงบประมาณ 64 ที่ผ่านมา ได้มีการออกกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในกลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง 4 ประเภท ได้แก่ 1. เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. ชาวประมง-เรือประมง 3. ผู้ประกอบการสะพานปลา-ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ และ 4. ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 65 กรมฯ ได้เข้าตรวจประเมินเพื่อต่ออายุใบรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจ ในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับ Modern Trade ที่ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดย บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านค้าที่ผ่านการรับรองแบบกลุ่ม จำนวนทั้งสิ้น 130 สาขาทั่วประเทศ และได้ใช้หลักเกณฑ์ในการสุ่มตรวจประเมินให้การรับรองแบบกลุ่มตามมาตรฐาน ISO 17065 โดยได้จำนวนตัวแทนในการตรวจประเมิน จำนวน 11 สาขา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เขตพื้นที่ ดังนี้
1. เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 5 สาขา ได้แก่ สาขานครอินทร์ สาขาแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี สาขาศรีนครินทร์ สาขาลาดพร้าว กรุงเทพฯ และสาขาจังหวัดนครปฐม
2. เขตพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขาจังหวัดระยอง สาขาแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สาขาจังหวัดฉะเชิงเทรา และสาขากบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
3. เขตพื้นที่ภาคตะวันตก จำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาจังหวัดกาญจนบุรี และสาขาจังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ กรมประมงยังร่วมกับ MAKRO ทำการจัดฝึกอบรมออนไลน์ผ่านระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ทีม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการผลิตสัตว์น้ำให้ปลอดภัย มีคุณภาพตามมาตรฐานจีเอพี (มกษ.7436-2563) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค และการดูแลคุณภาพสัตว์น้ำหลังการจับ ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งเป็นฟาร์มเครือข่ายของบริษัทฯ และผู้ผลิตสินค้าประมง รวมถึงพนักงานของบริษัทฯ จำนวนทั้งสิ้น 71 ราย
ทั้งนี้ กรมประมงเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับให้ผู้ผลิตสัตว์น้ำก้าวสู่มาตรฐานความปลอดภัย จนเกิดการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่า สินค้าสัตว์น้ำที่ผลิตออกจำหน่าย เป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง