͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำมันโลกพุ่งเขย่า “รัฐบาลลุง” ลุยกดดีเซลต่ำกว่า29บาท/ลิตร  (อ่าน 89 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Thetaiso

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 9362
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มพุ่งแรงต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนคนไทยแบกราคาพลังงานที่ทะยานขึ้นไม่หยุด เอาแค่กันยายนเดือนเดียวน้ำมันปรับขึ้นถึง 7 ครั้ง กระทั่ง “รัฐบาลลุง” ต้องงัดมาตรการเร่งด่วนคุมราคาดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มไปจนถึงมกราคมปีหน้า 2565 ขณะที่เสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนขอให้มีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ดังขึ้นอีกครั้ง 

ราคาน้ำมันโลกยังคงขึ้นแรงหลังจากการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก+ (โอเปกพลัส) เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เห็นพ้องในการยึดมั่นข้อตกลงในเดือนกรกฎาคม 2564 สำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในแต่ละเดือน ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 ขณะเดียวกันโอเปกพลัส ยังคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปี 2566 จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 101 ล้านบาร์เรล/วัน

หลังโอเปกพลัส มีข้อตกลงดังกล่าว ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ โดยสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในวันที่ 4 ตุลาคม วันเดียวกันที่โอเปกพลัสมีมติตรึงกำลังการผลิต ราคาน้ำมันเบรนท์ทะเลเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยมาปิดที่ 81.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือปรับเพิ่มขึ้น 2.8% มาปิดที่ระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดสหรัฐ (เวสต์เท็กซัสอินเตอร์มิเดียด หรือดับเบิลยูทีไอ) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% หรือ 2.32 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 78.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 หรือสูงที่สุดในรอบ 7 ปี

จากนั้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันเบรนท์ทะเลเหนือปรับเพิ่มสูงสุดทะลุ 83.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับลดลงมาปิดที่ 82.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์ คิดเป็น 1.6%
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดที่ 78.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์ หรือ 1.31% แต่ยังปรับลดลงมาเล็กน้อย หลังจากก่อนหน้านี้ปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 2% ซื้อขายสูงสุดที่ 79.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของทั้ง 2 ตลาดน้ำมันสำคัญหลังมีการปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วเมื่อวันจันทร์ (4 ตุลาคม) ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นนอกเหนือจะเป็นผลมาจากข้อตกลงของโอเปกพลัสแล้ว ยังมีปัจจัยจากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ในหลายประเทศ บวกกับความต้องการของหลายประเทศในเอเชียที่เปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมาเป็นน้ำมัน ขณะที่จีน ประสบภาวะขาดแคลนพลังงานจึงเก็งกันว่าจีนจะต้องนำเข้าพลังงานดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ส่วนทางซีกโลกตะวันตกเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกาทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก



 แน่นอน เมื่อราคาน้ำมันโลกพุ่ง ราคาน้ำมันของราชอาณาจักรไทยก็ปรับขึ้นตามอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันถึง 7 ครั้ง นับจากวันที่ 4 กันยาฯ ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล +30 สต./ลิตร, 15 กันยาฯ ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน/แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด +30 สต./ลิตร น้ำมัน E85 ปรับขึ้น +15 สต./ลิตร น้ำมันดีเซล ปรับขึ้น +50 สต./ลิตร, 18 กันยาฯ ปรับราคาขายปลีกขึ้นทุกชนิด +50 สต./ลิตร ยกเว้นน้ำมันดีเซล และ E85 ปรับขึ้น +30 สต./ลิตร 

 จากนั้น 24 กันยาฯ ปรับราคาขายปลีกขึ้นอีก โดยน้ำมันดีเซล +40 สต./ลิตร แก๊สโซฮอล์ +30 สต./ลิตร E85 ปรับขึ้น +15 สต./ลิตร, 28 กันยาฯ ปรับราคาขายปลีกขึ้นทุกชนิด +40 สต./ลิตร E85 ปรับขึ้น 20 สต./ลิตร และ 30 กันยาฯ กลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดปรับขึ้น 40 สต./ลิตร กลุ่มดีเซลทุกชนิดปรับขึ้น 60 สต./ลิตร และ E85 ปรับขึ้น 20 สต./ลิตร  

ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไม่หยุด ทำให้ประชาชนทนไม่ไหว สร้างกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการ เพราะลำพังการแบกรับภาระค่าครองชีพอื่นๆ ในช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว กระทั่งกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เคาะมาตรการระยะสั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดีเซล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้นทั้งน้ำมันและก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม ซึ่งในส่วนของราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น มีแนวทางดำเนินการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 จาก 1.00 บาทต่อลิตร เป็น 0.01 บาทต่อลิตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น ยังปรับลดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา จาก 1.80 บาทต่อลิตร ลงเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร ในระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 และปรับสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลบี7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี10) ให้เหลือเป็นร้อยละ 6 หรือปรับเป็นบี6 ส่งผลให้น้ำมันดีเซลเหลือเพียง 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี6 และน้ำมันดีเซลบี20 มีผลตั้งแต่วันที่ 11 - 31 ตุลาคม 2564

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มติ กบง. ดูแลราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งน้ำมันพื้นฐานบี10 และน้ำมันบี7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมเป็นต้นไป จะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียวคือ บี6 นั้น ราคาจะอยู่ที่ระดับ 28.29 บาทต่อลิตรยาวถึง 31 ตุลาคมนี้

ส่วน LPG ที่ก่อนหน้านี้ กบง.ได้เห็นชอบกรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ดูแลไว้ไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ขายปลีกภาคครัวเรือนที่ระดับ 318 บาท/ถัง (15 กิโลกรัม) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 31ธันวาคม 2564 กบง.ได้พิจารณาแนวทางจะขยายกรอบเวลาการดูแลไปจนถึง 31 มกราคม 2565 และแยกการดูแลออกมาเนื่องจากใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงพลังงาน จะหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นระยะเวลา 4 เดือน คือ ตุลาคม 2565 – มกราคม 2565 เพื่อตรึงราคาระดับดังกล่าวต่อไป



 ทั้งนี้ ราคาแอลพีจีตลาดโลกที่สูงถึง 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ทำให้ต้องใช้เงินดูแลราคาแอลพีจีที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก.เพิ่มขึ้น โดยมีเงินกองทุนน้ำมันฯ จะไหลออกราว 1,700 ล้านบาท/เดือน หากดูแล 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 64) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต้องใช้เงินดูแลราว 5,000 ล้านบาท โดยการตรึงราคาในประเทศราคานี้มีการใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 ซึ่งมีการใช้วงเงินอุดหนุนแอลพีจีไปแล้วจนถึงวันที่ 26 กันยายน 2564 ที่ 17,431 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 11,441 ล้านบาท 

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลโดยรวมที่ 28.29 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน มองว่า ถ้าน้ำมันดับตลาดโลกสูงขึ้นไปกว่า 76 เหรียญต่อบาร์เรลก็สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยพยุงไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่กำหนดไว้จะมีการหารือเตรียมมาตรการสำรองรองรับต่อไป โดย กบง.ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมพิจารณาเรื่องการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ รองรับในกรณีที่เกิดวิกฤตราคาน้ำมันไว้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเปิดช่องให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของ บี7 เหลือ 1 สต./ลิตร และปรับเป็นดีเซลฐาน บี6 จะใช้เงินชดเชยรวม 2 บาท/ลิตร หรือคิดเป็นเงินที่จะใช้ราว 3,000 ล้านบาทนั้น จะสามารถรับมือได้ไปจนถึงระดับราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะสูงสุด 85 เหรียญ/บาร์เรล

นอกเหนือจากการตรึงราคาน้ำมันและก๊าซฯ แล้ว รัฐบาลยังได้พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 (12 เดือน) โดย ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,018 ล้านบาท ครอบคลุม ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 1.9 ล้านครัวเรือน และน้ำประปาประมาณ 186,625 ครัวเรือน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของ “รัฐบาลลุง” ข้างต้น มีคำถามและข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนที่ติดตามราคาพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดย  นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร เสนอว่าควรใช้โอกาสนี้ถอดน้ำมันชีวภาพออกจากโครงสร้างราคาน้ำมันเสียเลยจะดีกว่า เพราะมาตรการแก้ไขน้ำมันแพงที่ออกมาเพียงลดกระแสสังคมและปะผุโครงสร้างราคาน้ำมันชั่วคราวเท่านั้น

กล่าวเฉพาะบี20 ที่ยังคงอยู่ อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ก็ว่าถ้าไม่ยกเลิกก็ยังต้องล้วงเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.16 บาทต่อลิตร กลายเป็นว่าน้ำมันดีเซลผสมบี20 เอาเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้เบนซินมาชดเชยดีเซล วนๆ กันเป็นปัญหางูกินหางอยู่เช่นนี้ จึงย้อนถามรัฐบาลและกระทรวงพลังงานว่าผสมน้ำมันชีวภาพไบโอดีเซลและเอทานอลเพื่ออะไร เพื่อช่วยเหลือประชาชนหรืออุ้มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันกันแน่

ด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาลหรือมันสำปะหลังมีราคาแพงกว่าน้ำมันจากฟอสซิล และแพงกว่าเอทานอลตลาดโลก ยิ่งเติมเอทานอลในเบนซินราคาก็ยิ่งสูง ตามหลักธุรกิจถือว่าเอทานอลและบี100 เป็นธุรกิจไม่มีอนาคต แต่อยู่ได้เพราะรัฐบาลชดเชยให้ราคาถูกลง คำถามคือใช่เป็นการอุ้มโรงกลั่นให้ร่ำรวยจากการขายน้ำมันชีวภาพราคาแพงหรือไม่ เป็นคำถามเช่นเดียวกับ บี100ที่แพงกว่าน้ำมันดีเซลถึงสองเท่า ซึ่งเมื่อไปดู พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน 2562 ระบุชัดว่าให้ลดการสนับสนุนน้ำมันชีวภาพลงทุกปีและให้เลิกชดเชยภายใน 3 ปี คือ ปี 2565

 ข้อเสนอของอดีตส.ว. กรุงเทพมหานคร คือกบง.ควรถือโอกาสนี้ยกเลิก บี20 ไปเลย และภายในสิ้นปี2564 ก็ควรยกเลิกการเติมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลทุกชนิด อีกทั้ง กบง. ควรพิจารณายกเลิกน้ำมัน อี85 และอี20 เพื่อลดการใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชย อี85 อี20 ในอัตรา7.13 บาท และ 2.28 บาท/ลิตร และถ้าเอทานอลราคาแพงกว่าเบนซินเกิน20% ก็ควรยกเลิกน้ำมันสูตรผสมไปเสีย เพื่อไม่เป็นภาระต่อเงินกองทุนน้ำมันที่ควรใช้เมื่อน้ำมันตลาดโลกเกิดความผันผวน ราคาแพงจนกระทบค่าครองชีพ รวมทั้งเสนอควรยกเลิกต้นทุนเทียมที่ใช้ในสูตรราคาเนื้อน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ เพราะไม่มีการนำเข้าจริงเป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศ ก็จะสามารถลดราคาเนื้อน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลได้อีก 70 สตางค์-1 บาท/ลิตร 

 ส่วนที่น่าจะโดนใจสังคมมากสุดคือข้อเรียกร้องต่อ กบง.ควรกำกับไม่ให้มีการขึ้นราคาน้ำมันเกินเดือนละครั้ง หากราคาตลาดโลกน้ำมันปรับขึ้นมากเกินไปควรเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยที่เนื้อน้ำมัน เพื่อให้ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวมากเกินไปจนกระทบราคาสินค้าและค่าครองชีพ และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงชั่วคราวลิตรละ 5 บาท เพื่อช่วยประชาชนในยามยากลำบากจากวิกฤตโควิด น้ำท่วม ค่าครองชีพสูงจากราคาน้ำมัน 

ข้อเรียกร้องให้ลดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงชั่วคราวนี้ มีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชัดว่า คลังยังไม่มีแนวคิดปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แม้ทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะกองทุนน้ำมันยังมีสภาพคล่องเหลือเพียงพอดูแลราคาไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน โดยรัฐบาลมีนโยบายพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร

นอกจากจะมีข้อเสนอปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันแล้ว นางสาวรสนา ยังตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องที่กระทรวงพลังงาน เตรียมพิจารณาเรื่องการกู้เงินของกองทุนน้ำมัน ที่มีเพดานที่ 20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังปรับสูงขึ้นด้วยว่า การกู้มาใส่กองทุนเพื่อชดเชยราคาน้ำมันและก๊าซฯ ถ้าโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ยังเป็นอยู่แบบนี้ ต้องชดเชยกันไม่มีวันสิ้นสุด

สำหรับเรื่องก๊าซหุงต้มนั้น อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ระบุว่า มาจากการผลิตในประเทศ ทั้งจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นมีปริมาณไม่น้อยกว่า 80-90% ที่นำเข้ามีปริมาณสูงสุดไม่เกิน 10% แต่รัฐบาลไม่ยอมให้คนไทยใช้ในราคาสินค้าไทย และนายกฯ คนนี้ เป็นผู้ปล่อยลอยตัวก๊าซหุงต้มให้ไปอิงราคาซาอุดิอาระเบีย นิยายพล็อตเดียวกับน้ำมันที่อิงราคาสิงคโปร์ ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้มไม่ใช่แค่อิงราคา แต่ตั้งราคาเป็นราคานำเข้าที่บวกทั้งค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง น้ำมันสำเร็จรูปผูกสูตรไว้สลับซับซ้อนทั้งราคาปรับปรุงคุณภาพ และอีกจิปาถะเพื่อการบวก, บวก, บวก ส่วนก๊าซหุงต้มกว่า 80%เป็นของที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ใช้ราคานำเข้าจากซาอุฯ ที่บวกค่าขนส่งแล้ว ยังบวกค่าโสหุ้ยอื่น เรียกประกันกำไรให้ผู้ประกอบการเต็มพิกัด

นางสาวรสนา ตั้งข้อสังเกตว่า การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม หรือการชดเชยราคาน้ำมันก็คือล้วงกระเป๋าประชาชนมาใส่กองทุนน้ำมัน แล้วเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยให้ก๊าซหุงต้มถึง12.74 บาท/กิโลกรัม ในอดีตก๊าซหุงต้มในประเทศกิโลกรัมละ18 บาท ราคาก๊าซฯ ถังบรรจุ15 กิโลกรัม 270บาท ปัจจุบันใช้ราคานำเข้าจากซาอุฯ อัพราคาขึ้นไปสูงทั้งที่ก๊าซส่วนใหญ่เป็นก๊าซในอ่าวไทย เมื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้นมาก แล้วเอากองทุนจากกระเป๋าประชาชนมาชดเชย12.74บาท เพื่อลดราคามาอยู่ที่ 18.87บาท/กิโลกรัม เรียกว่าเป็นการถ่ายโอนเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันไปเข้ากระเป๋าใคร!? ใช่หรือไม่?

สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศไทยในปีนี้ ตามถ้อยแถลงของนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันรวมก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG) ของไทย 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - สิงหาคม 2564) เฉลี่ยอยู่ที่ 130.95 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% โดยปัจจัยหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานลดลง 47.2% และการใช้กลุ่มเบนซินที่ลดลง 7.3% กลุ่มดีเซลลดลง 4.9% จากผลกระทบโควิด-19

ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบ 8 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ย 868,161 บาร์เรล/วัน ลดลง 0.1% มูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 443,864 ล้านบาท (เฉลี่ยเดือนละ 55,483 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 42.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 312,120 ล้านบาท (เฉลี่ยเดือนละ 39,015 ล้านบาท) ซึ่งมูลค่าที่สูงขึ้นจากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าลง

ราคาน้ำมันโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในปีนี้ สร้างแรงกดดันว่าอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่มีการใช้น้ำมันมากอย่างสหรัฐอเมริกาและอินเดีย และทำให้หวั่นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยด้วย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังติดตามสถานการณ์และมีความกังวลไม่น้อย

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธาน ส.อ.ท. เผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลถึงสถานการณ์ต่างประเทศ ทั้งปัญหาไฟฟ้าดับในจีนหลายเมือง ภาวะน้ำท่วมในไทย และราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกเพราะค่าระวางที่อาจปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันแพงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ชะลอตัวลงได้อีก แม้รัฐบาลจะเตรียมพร้อมเปิดประเทศให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวก็ตาม

 เอาเป็นว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเกือบสิบบาทต่อลิตรในปีนี้นั้น ต้องรอดูว่ามาตรการต่างๆ ของ “รัฐบาลลุง” ที่งัดออกมาตรึงราคาจะเอาอยู่หรือไม่ อย่าถามว่าประชาชนจะทนไหวไหมในสถานการณ์ผีซ้ำด้ามพลอย เหลียวซ้ายแลขวามีแต่ถอยหลังลงคลองอย่างที่เห็นและเป็นอยู่