͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ก.ล.ต. ยกระดับ “e-enforcement” ครอบคลุมการบังคับใช้กฏหมายในทุกด้าน  (อ่าน 118 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 12494
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฏหมายครอบคลุมทุกการลงทุน จ่อเสนอปรับแก้ไขกฏหมาย 4 ฉบับ เพื่อให้สอดรับกับสังคมการลงทุนในยุคดิจิทัล เหตุสถานการณ์ลงทุนโลกผันผวนรวดเร็วรุนแรงและมีความซับซ้อนพบช่องโหว่มากขึ้น

สืบเนื่องจากเศรษฐกิจและสังคมโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง (VUCA World : ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity)) การทำธุรกรรมทางการเงินและในตลาดทุนมีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน และมุ่งไปสู่ลักษณะที่ไร้พรมแดน นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน

ขณะที่ในภาคตลาดทุนเองก็พบลักษณะการกระทำผิดที่มีการวางแผน การอำพรางพยานหลักฐาน และปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเงินสด การใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขาย ใช้บัญชีในการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากในหลายบริษัทหลักทรัพย์ และใช้บัญชีธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายมีความซับซ้อน

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ และดำเนินการในเชิงรุก นำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนั้นๆ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงาน คิด และพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ (e-enforcement) โดยใช้ประโยชน์จาก Big Data มาตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “การป้องกัน” และ “การตรวจจับ” เพื่อใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งหาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบทำได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมี 3 เครื่องมือ ประกอบด้วย

1. AI-Enforcement เป็นเครื่องมือช่วยดักจับและสรุปพฤติกรรมความผิด ที่แสดงผลในรูปแบบ visualize ช่วยสรุปภาพรวมพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายผิดปกติของผู้ต้องสงสัย ที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปช่วยอธิบายในชั้นดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อป้องปรามการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยพฤติกรรมความผิดต่าง ๆ ที่ระบบ AI-Enforcement จะช่วยวิเคราะห์ออกมาให้ โดยหลักแล้วเป็นพฤติกรรมตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่น ผลักดันราคา จับคู่ซื้อขาย พยุงราคา หรือทำราคาเปิด-ปิด เป็นต้น โดยแสดงผลได้ทั้งแบบช่วงที่ต้องการตรวจสอบ (Interday) ทำให้เห็นภาพรวมของพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย หรือ แบบรายวัน (Intraday) ทำให้สามารถพิจารณาเชื่อมโยงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ชัดเจนมากขึ้น

2. Corporate Surveillance เป็นเครื่องมือคัดกรองและตรวจจับธุรกรรมผิดปกติเบื้องต้น เกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งธุรกรรมที่มีข้อสังเกตที่อาจนำไปสู่การกระทำไม่เหมาะสมหรือทุจริต โดยจะช่วยให้ตรวจจับและคัดกรองธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว และยับยั้งไม่ให้ความเสียหายลุกลาม (detect & deterrence) รวมถึงลดระยะเวลาในการทำงานและลดจำนวนเคสทุจริตด้วย เมื่อระบบ Corporate Surveillance ประมวลผลข้อมูลและตรวจจับว่ามีธุรกรรมผิดปกติจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น (surveillance) และหากมีมูลว่ากระทำผิดกฎหมายจะส่งเรื่องให้ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบในเชิงลึก (investigation) และดำเนินการกับผู้กระทำผิด (enforcement) ต่อไป ช่วยในการดำเนินการของ ก.ล.ต. ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

3. E-link เป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบความเชื่อมโยงบุคคลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยจะช่วยในการวิเคราะห์และหาความเชื่อมโยงจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีธุรกรรมปริมาณมากและมาจากแหล่งต่าง ๆ กัน เช่น ทางเงิน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งจะแสดงผลในลักษณะ visualization ได้หลายมิติ ทำให้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบ และเพิ่มความแม่นยำในการรวบรวมหลักฐานความสัมพันธ์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดีระบบ E-link จะมีโมเดลในการวิเคราะห์ เลือกผังความสัมพันธ์ที่เหมาะสมและมุมมองที่ต้องการ visualize ซี่งมีให้เลือกใช้หลายรูปแบบ ทั้งในการใช้วาดความสัมพันธ์ที่เน้นความเชื่อมโยงที่ต้องการโฟกัสได้ คัดกรองรายการที่ไม่จำเป็น มีการวิเคราะห์แบบ timeline ที่แสดงความเกี่ยวเนื่องระหว่างเหตุการณ์ มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในเชิง histogram เป็นต้น

นอกจาก การนำ e-enforcement มาใช้ใน “การป้องกัน” และ “การตรวจจับ” แล้ว ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.* เพื่อส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของตลาดทุนในยุคดิจิทัล และให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นก่อนฟ้องคดี โดยให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ความผิดฐานสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และความผิดฐานบอกกล่าวเผยแพร่หรือให้คำรับรองข้อความเท็จ และยังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้มีการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมายจำนวน 4 ฉบับที่เสนอแก้ไข ประกอบด้วย
1. พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
2. พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
3. พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550
4. พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561