͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: จับตาคลังเคาะ “ภาษีบุหรี่ใหม่” กรีดแผลเก่าอุตสาหกรรมยาสูบ  (อ่าน 141 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Beer625

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 13322
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด

การปรับโครงสร้าง “ภาษีบุหรี่ใหม่” เริ่มบังคับใช้ตามกำหนดเดิม 1 ต.ค.เป็นต้นไป คาดขึ้นราคา 6-8 บาท ต่อซอง หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีล่าสุดเมื่อปี 2560 จนส่งผลกระทบ “อุตสาหกรรมยาสูบ” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การยาสูบฯ (ยสท.) ขาดทุนมหาศาล ยอดจัดเก็บภาษีบุหรี่เข้ารัฐลดฮวบ ซ้ำเติมปัญหาปากท้องเกษตรกรไร่ยาสูบ บุหรี่แพงคนหันไปสูบยาเส้นแทน ทั้งเปิดช่องบุหรี่เถื่อนระบาดหนัก

แม้ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนถึงตัวเลขอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ แต่คาดการณ์กันว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ กลไกสร้างเงื่อนภาษีเพื่อทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กเยาวชน ความท้าทายของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ที่มุ่งเน้นเป้าหมายด้านสุขภาพ เสมือนระเบิดเวลาจุดชนวนอุตสาหกรรมยาสูบสู่ความล่มสลายหรือไม่?

-1-
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ ปี 2560 กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นภาษียาสูบเป็น 2 อัตรา คือ บุหรี่ไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษี 20 % ส่วนซองละ 60 บาทขึ้นไป เสียภาษี 40 % รวมทั้ง อัตราตามปริมาณอีกมวนละ 1.2 บาท ซึ่งป็นการเก็บภาษีตามความฟุ่มเฟือยและตามราคาจำหน่าย สินค้าที่มีราคาขายแพงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าสินค้าราคาถูก รวมถึง เป็นการเก็บตามปริมาณที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 ผลที่ตามคือบุหรี่ไทยราคาสูงขึ้นแม้ยอดจำหน่ายน้อยลงแต่ไม่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีเดิมยังส่งผลให้บุหรี่นอกราคาถูกลง จากเดิมราคาจำหน่ายซองละประมาณ 70 บาท ตามหลักต้องเสียภาษี 40 % แต่ลดราคาเหลือ 60 บาท เพื่อจ่ายภาษี 20 % เปิดช่องลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน คนให้ไปสูบบุหรี่นอกกันมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าบุหรี่ไทย 2 - 3 เท่าตัว 

ทั้งยังมีกลุ่มที่หันไปสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่าบุหรี่ ทำให้ความต้องการยาเส้นเพิ่มขึ้น จาก 12,000 ล้านมวนในปี 2559 เป็น 34,000 ล้านมวนในปี 2563

ขณะที่  การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ประสบภาวะวิกฤตรุนแรง ผลกระทบจากโครงสร้างภาษี ปี 2560 ทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น ยอดขายและกำไรลดลง อ้างอิงข้อมูลจาก thaipublica.org ระบุว่า ก่อนปรับโครงสร้างภาษี ปี 2560 การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีรายได้รวม 68,176 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,343 ล้านบาท ส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง 5,173 ล้านบาท

 ทว่า ปี 2561 โรงงานยาสูบมีรายได้รวม 51,566 ล้านบาท กำไรสุทธิเหลือ 843 ล้านบาท ส่งรายได้เข้าคลัง 50 ล้านบาท เฉพาะปีแรกปีเดียวรายได้ลดลง 16,610 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 8,500 ล้านบาท เงินรายได้นำส่งคลังลดลง 5,123 ล้านบาท 

สถานการณ์ดังกล่าวส่งให้โรงงานยาสูบปรับลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรลงจากเดิม 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือ 13 ล้านกิโลกรัมต่อปี ลดโควตารับซื้อใบยาสูบ 50% กระทบต่อรายได้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบหาย 50% โดยเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินชดเชยตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2562/63 จำนวน 159 ล้านบาท

 รวมทั้งกระทบรายได้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิตลดลง ในปีงบประมาณ 2563 มีรายได้อยู่ที่ 62,905 ล้านบาท ลดลงจากที่ปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 67,410 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2561 มีรายได้จัดเก็บอยู่ที่ 68,548 ล้านบาท 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนออัตราภาษีบุหรี่ใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมาแทนระบบภาษีเดิม โดยภาษีบุหรี่ใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ตามแนวทางที่วางไว้ตั้งแต่แรกนั้น จะมีการปรับจาก 2 อัตรา คือ 20% และ 40% เป็นจัดเก็บที่อัตราเดียว 40%

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดภาษีบุหรี่ใหม่ว่า อยู่ระหว่างกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่ได้นำเรื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่เสนอให้ที่ประชุม ครม. แต่ที่แน่นอนจะมีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ส่วนจะปรับอัตราเท่าใดยังไม่สามารถระบุได้

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ นายลวรณ แสงสนิท  อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่ากรมสรรพสามิตได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ยืนยันว่ากรมสรรพสามิตได้มีการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่อย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เคยเกิดในอดีต ตลอดจนตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลักคือ 1. ด้านสาธารณสุข 2.ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 3.ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4.ด้านการดูแลบริหารจัดการบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ปลอม ทั้งนี้ทั้งนั้นภายใต้โจทย์ทั้ง 4 ข้อ โครงสร้างภาษีใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มผู้ค้าบุหรี่บางกลุ่มต้องการ

ในมุมวิชาการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ควรเป็นอัตราเดียว และต้องทำให้ราคาบุหรี่ขายปลีกมีราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้คนเลิกสูบหรือสูบน้อยลงและป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนเข้ามาเสพติดบุหรี่ เพื่อสุขภาพและชีวิตของคนไทย

 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย กล่าวถึงการปรับอัตราภาษีบุหรี่ใหม่เพื่อมาแทนระบบภาษีปัจจุบันที่ใช้ระบบ 2 อัตรา ให้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2564 ซึ่งภาคนักวิชาการควบคุมยาสูบเสนอให้ใช้อัตราภาษีเดียวในบุหรี่ทุกประเภท และภาษีอัตราใหม่จะต้องมีผลให้บุหรี่ทุกประเภทมีราคาไม่ถูกลงจากราคาปัจจุบัน เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ที่สำคัญภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการปฏิรูประบบภาษีบุหรี่ที่ดี โดยรัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นภาษีทุกปี ปีละ 4% มาตั้งแต่ปี 2555 มีการปรับโครงสร้างภาษีจากที่เคยมี 4 ระดับ จนปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงระดับเดียว จากที่เคยเก็บภาษีในอัตรา 2.72 เปโซต่อซอง ในบุหรี่กลุ่มราคาถูกที่สุด ปรับเพิ่มมาเก็บภาษีในอัตรา 30 เปโซต่อซอง ซึ่งจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกกลุ่มราคา ผลที่ตามมาคือรัฐบาลได้รายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราการสูบบุหรี่ลดลง และยังส่งผลให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนลดลงด้วย

นอกจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่  ศ.อรรถกฤต ปัจฉิมนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ระบุว่า กระทรวงการคลังควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความแตกต่างด้านราคาของบุหรี่และยาเส้น เพื่อเป็นการลดพฤติกรรมการเปลี่ยนไปสูบสินค้าทดแทนที่มีราคาถูกกว่าแต่มีอันตรายไม่น้อยไปกว่ากัน และเป็นการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ภาษีเข้ารัฐ

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะเป็นอัตราเท่าใดนั้นยังคงต้องรอมติจากที่ประชุม ครม. ซึ่งทางกรมสรรพสามิตยืนยันว่าจะไม่ทำให้รายได้ของกรมฯ ต่ำกว่าปัจจุบันที่มีรายได้จากภาษีบุหรี่อยู่ที่ 60,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อัตราภาษีใหม่จะถูกลง

ตามกระแสข่าวคาดการณ์กันว่าอัตราภาษีตามโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะไม่ปรับขึ้นจาก 20% เป็น 40% ตามกฎหมายเดิม ทั้งนี้ อัตราการจัดเก็บขั้นต่ำตามมูลค่าของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมากกว่า 20% แต่คงไม่ถึง 40% เพราะการจัดเก็บอัตราเดียวที่ 40% จะทำให้ราคาบุหรี่ปรับขึ้นสูงอย่างมากกระทบอุตสาหกรรมยาสูบอย่างหนัก เบื้องต้นตลาดผู้ค้าบุหรี่ประเมินว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะส่งผลต่อราาคาขายปลีกบุหรี่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น 6- 8 บาทต่อซอง

-2-
สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีบรรดายี่ปั๊ว (พ่อค้าคนกลาง), ร้านค้าส่งรายใหญ่ กักตุนบุหรี่ เพื่อรอการปรับขึ้นภาษีใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.นี้แล้ว เห็นได้จากเวลาร้านค้าปลีก โชห่วยสั่งซื้อ จะได้ของน้อยกว่าเดิม เช่น สั่งไป 5 ลัง ได้รับของเพียง 2 ลัง แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าราคาที่แท้จริงจะปรับขึ้นเท่าไรแต่เชื่อว่าจะแพงขึ้น ผู้ที่กักตุนจะมีกำไรเพิ่มแน่นอน หากขึ้นภาษีตามประกาศเดิมจาก 20% เป็น 40% บุหรี่ซองละ 60 บาท จะแพงขึ้นอีกซองละ 15 - 20 บาท แต่หากมีการทบทวนภาษี ขึ้นราคาซองละ 5 - 6 บาท ก็ยังเป็นราคาที่จูงใจให้กักตุนอยู่ดี เพราะขายได้แพงขึ้นถึง 10% และน่าเป็นห่วงคือปัญหาบุหรี่เถื่อนจากเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาขาย โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีขายเกลื่อนเมือง เนื่องจากมีส่วนต่างของราคาเพิ่ม ทำให้ร้านค้าโชห่วยมียอดขายตกลงมาก

สำหรับความชัดเจนของอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ยังคงต้องรอความชัดเจน แต่ที่แน่ๆ อุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบได้รับผลกระทบอย่างถ้วนทั่ว  นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร  ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันโรงงานยาสูบมีกำไรอยู่ที่ 67 สตางค์ต่อซอง ซึ่งก่อนที่จะใช้ภาษี 2 อัตรา มีกำไรอยู่ที่ 7 บาทต่อซอง หากมีการปรับใช้อัตราภาษีเดียว หรือ อัตรา 40% โรงงานยาสูบจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งกับบุหรี่นำเข้าได้ เพราะบุหรี่นำเข้าแม้จะขาดทุน หรือ มีกำไรลดลง แต่ยังสามารถนำกำไรที่ได้จากการขายในประเทศอื่นๆ มาชดเชยได้

 นายกิตติทัศน์ ผาทอง  ผู้จัดการสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย ภาคียาสูบแห่งประเทศไทย สะท้อนความกังวลว่าการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ใหม่จะทำให้ชาวไร่เดือดร้อนหนักกว่าเดิม และถูกลดโควตาการรับซื้อใบยาสูบจากการยาสูบแห่งประเทศไทย จากปัจจุบันที่ลดโควตารับซื้อไปแล้ว 50% อีกทั้งเงินที่จะช่วยชดเชยให้เกษตรกร ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2562/63 จำนวน 159 ล้านบาท ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ขณะที่  นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวถึงบทเรียนจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ปี 2560 ซึ่งทำให้บุหรี่ยี่ห้อหลักๆ ของ ยสท. ต้องขึ้นราคา 10 - 30 บาทต่อซอง หรือราว 20% - 50% เพราะภาระภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชั่วข้ามคืน จึงเกิดปัญหาบุหรี่เถื่อนทะลักเข้ามามากขึ้นถึง 29% ในที่สุดกำไรของ ยสท. ลดลงไป 94% จาก 9.3 พันล้านบาทเมื่อปี 2560 เหลือเพียง 550 ล้านบาทในปี 2563 ทำให้ ยสท. ไม่มีกำลังและความต้องการซื้อใบยาสูบมากเหมือนเมื่อก่อน

“เกษตรกรและเครือข่ายผู้ค้าบุหรี่ที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายอีกเกือบ 500,000 คน ทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำและปลายน้ำได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดระยะเวลาเกือบ 82 ปี ที่ตั้งโรงงานยาสูบ จนมาถึงการเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทยและทำให้เกษตรกรซึ่งปลูกยาสูบนั้นได้รับผลกระทบและต้องออกมาประท้วงกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน และที่สำคัญก็คือผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดน้อยลงตามวัตถุประสงค์ที่เครือข่ายต่อต้านได้ตั้งความหวังไว้ ผลกำไรสุทธิ 88% ที่ยสท. ต้องนำส่งเข้าคลัง ก็ไม่ได้มีการนำส่งมาตั้งแต่ปี 2560 เท่ากับเม็ดเงินในการบริหารประเทศหายไปถึง 34,000 ล้านบาท ภาษีก็เก็บได้น้อยลง แต่บุหรี่เถื่อนได้ประโยชน์มากขึ้น” นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าว

ทางด้านแกนนำภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย  นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่าชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัวในจังหวัดภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่ที่ชาวไร่ยาสูบถูก ยสท. ตัดโควตารับซื้อในปี 2561 มาต่อเนื่อง 4 ปีหลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อปี 2560 นั้น ที่ผ่านมาชาวไร่ได้เงินชดเชยเพียงปีเดียวคือของปี 2561

และน่าจับตาว่าหากบุหรี่ต้องขึ้นราคาไปถึง 6 - 8 บาทต่อซองตามที่มีการคาดการณ์ ยสท. จะลดโควตารับซื้อใบยาสูบลงอีกหรือไม่ ความเดือดร้อนของเกษตรกรรากหญ้าชาวไร่ยาสูบเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม พร้อมๆ กับการผลักดันเป้าหมายด้านสุขภาพโดยปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่

 ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐต้องเยียวยาความบอบซ้ำที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยาสูบ