͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: สหรัฐฟ้องไทยเลี่ยงภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซล  (อ่าน 96 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Prichas

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 12494
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซล(Crystalline Silicon Photovoltaic CellsหรือCSPV)ของสหรัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ให้ไต่สวนการนำเข้าแผงโซลาร์เซล จากโรงงานผลิต 14 ราย จาก 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เพราะทำผิดกฎหมายของสหรัฐในลักษณะแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า(Circumvention)ด้วยการนำสินค้าที่ผลิตจากจีนมาแปรรูปเพียงเล็กน้อย หรือเพียงแค่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใน 3 ประเทศแล้วแอบอ้างว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจาก 3 ประเทศก่อนส่งออกไปสหรัฐ เพื่อหวังหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการทุ่มตลาด (เอดี) และภาษีการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) ที่สหรัฐเรียกเก็บจากสินค้าจีน โดยไทย มีผู้ผลิต 4 รายที่เข้าข่ายกระทำผิดในครั้งนี้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะมีเวลาพิจารณาคำร้อง 45 วันหลังจากวันที่มีการยื่นฟ้อง หรือสิ้นสุดภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศผลการพิจารณา หากมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอว่าสินค้าจากทั้ง 14 โรงงาน ของ 3 ประเทศ แอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจริง ก็อาจประกาศคำตัดสินขั้นสุดท้ายโดยบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้า Circumventionทันที

แต่หากพิจารณาแล้วยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ก็อาจประกาศว่า มีมูลแล้วเริ่มต้นกระบวนการไต่สวน ซึ่งจะมี ระยะเวลาพิจารณาไม่เกิน300วัน นับจากวันที่มีการยื่นคำร้อง และจะเปิดโอกาสให้มีการทำประชาพิจารณ์และยื่นคำคัดค้านได้ ซึ่งผู้ประกอบการจากไทยสามารถยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมเอกสารหลักฐาน อย่างไรก็ตาม หากผลการพิจารณา พบว่า ทั้ง 14 โรงงานมีความผิดจริง สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามอัตราที่ประกาศเป็นรายบริษัท ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเรียกเก็บเท่ากับอัตราที่เก็บภาษีเอดีจากสินค้าจีนที่ 92.52-95.50%

 

ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐประกาศสงครามการค้า และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ จากจีน รวมถึงแผงโซลาร์เซล อีกทั้งยังใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ กับสินค้าจีน เช่น เอดี ซีวีดี, มาตรการปกป้องการนำเข้า (เซฟการ์ด) ด้วยนั้น ส่งผลให้ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลจากจีนย้ายฐานการผลิตไปประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งจากข้อมูลของสหรัฐ ระบุว่า ในปี 60 แผงโซลาร์เซลที่ส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นมาก อย่างปี 61 มูลค่าอยู่ที่ 50.41 ล้านดอลลาร์ แต่ปี 62 เพิ่มเป็น 502 ล้านดอลลาร์ส่วนปี 63 เพียงช่วงครึ่งแรกของปี มูลค่าสูงถึง 741 ล้านดอลลาร์ และครึ่งแรกปี 64 แม้ลดลงจากปี 63 แต่ยังสูงถึง 604 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน สหรัฐนำเข้าจากเวียดนาม และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

สำหรับ 4 โรงงานส่งออกของไทยนั้น 3 รายแรกเป็นการลงทุนของจีน และอีก 1 รายเป็นการร่วมทุนของจีนไต้หวัน ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ มี 2 รายที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเอดีในอัตรา 92.52-95.50%ทั้งนี้ ศุลกากรสหรัฐกำลังเพ่งเล็งสินค้านำเข้าจากไทย และประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการสวมรอยสินค้าที่ผลิตจากจีนในหลายกลุ่ม เช่น เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซล เป็นต้น

อ่านข่าว : สหรัฐพร้อมร่วมมือไทย-อาเซียน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ กรมจะเชิญผู้ส่งออกทั้ง 4 รายมาหารือถึงวิธีการทำธุรกิจว่ามีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดจริงหรือไม่ และหากสหรัฐเปิดไต่สวนกรณีดังกล่าว กรมก็พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำผู้ส่งออกในการตอบแบบสอบถามตามที่สหรัฐส่งมาให้เพื่อพิจารณาข้อมูลว่ามีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดไทยจริงหรือไม่ รวมถึงช่วยในกระบวนการโต้แย้งข้อกล่าวหาด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าไทยแล้วส่งออกไปสหรัฐฯนั้น กรมได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะในสินค้าจากจีนที่ถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีเอดี ซีวีดี เพราะมีแนวโน้มที่จะแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าได้