͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: พิษโควิด! นักธุรกิจแห่ 'ขาย' โรงแรม  (อ่าน 156 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ fairya

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 12401
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด 19 มีเจ้าของโรงแรมตัดสินใจขายโรงแรมมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่ประสบปัญหาทางการเงิน สมาคมฯประเมินว่าน่าจะมีโรงแรมหลายแห่งที่ไม่สามารถชำระหรือรับผิดชอบเงินกู้ได้ ทำให้เกิดหนี้เสียตามมา จึงต้องการขายโรงแรมเพื่อลดภาระทางการเงินและนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ โดยมีนักลงทุนที่สนใจซื้อสอบถามผ่านทางธนาคารหรือนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ว่าเจ้าของรายใดสนใจขายโรงแรมบ้าง

และจากการประชุมอัพเดตสถานการณ์ซื้อขายโรงแรมร่วมกับบริษัท JLL ที่ปรึกษาให้บริการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยตลอดปี 2564 ประมาณ 17 แห่ง ด้วยมูลค่า 1-1.2 หมื่นล้านบาท เป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ 3 แห่ง ภูเก็ต 4 แห่ง เกาะสมุย 5 แห่ง และจังหวัดอื่นๆ อีก 5 แห่ง โดยเป็นโรงแรมที่มีมูลค่าซื้อขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 7 แห่ง มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท จำนวน 9 แห่ง และมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 แห่ง

ส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีโรงแรมที่ปิดดีลการซื้อขายแล้วมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างทำสัญญาอีกประมาณ 3 พันล้านบาท โดยยังถือว่าเป็นมูลค่าการซื้อขายที่น้อย เนื่องจากราคาขายไม่ได้ตกมากเท่าไร ผู้ขายส่วนใหญ่ยังต้องการขายในราคาตลาด แต่ถ้าผู้ขายยอมลดราคาโรงแรม คาดว่ามูลค่าการซื้อขายก็น่าจะมากกว่านี้

ทั้งนี้รายงานของ JLL ยังระบุด้วยว่า จุดหมายของการลงทุนโรงแรมในไทย 3 อันดับแรก คือกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย โดยราคาซื้อขายโรงแรมในกรุงเทพฯทั้งหมด 100% แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือมีส่วนลดราคาที่ระดับ 0-5% ต่างจากโรงแรมในภูเก็ตส่วนใหญ่ 59% จะมีส่วนลดราคาซื้อขายให้มากกว่า 30% ส่วนโรงแรมที่เหลืออีก 41% ในภูเก็ตมีส่วนลดราคาซื้อขายให้ที่ระดับ 0-5% ฟากเกาะสมุยส่วนใหญ่ 57% จะมีส่วนลดราคาซื้อขายอยู่ที่ระดับ 15-20% รองลงมาคือกลุ่มที่มีส่วนลดมากกว่า 30% และมีกลุ่มที่มีส่วนลด 0-5% ตามลำดับ

“ภาพรวมจำนวนและมูลค่าของการเปลี่ยนมือซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยน่าจะมีมากกว่านี้ เพราะไม่ได้มีแค่การซื้อขายผ่านบริษัทนายหน้าอสังหาฯเท่านั้น แต่นักลงทุนอาจจะติดต่อซื้อด้วยตัวเอง ซื้อผ่านคนรู้จัก หรือซื้อผ่านธนาคาร”

ขณะที่โรงแรมส่วนหนึ่งเลือกเข้าร่วมมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ “โกดังพักหนี้” (Asset Warehousing) ซึ่งสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนในภายหลัง เพราะยังอยากรักษาโอกาสความเป็นเจ้าของโรงแรมนั้นๆ อยู่ โดยปัจจุบันมีผู้นำโรงแรมเข้าร่วมมาตรการนี้แล้วประมาณ 60-80 ราย
 
นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ปัจจุบันแม้แต่ธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ยังต้องพิจารณาอีกรอบว่าจะลดต้นทุนอย่างไร เช่น ปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้งหรือไม่ ชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดเริ่มมีผลกระทบต่อบริษัทที่มีสายป่านยาว 

ส่วนธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กสามารถควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า เปิดหรือปิดให้บริการได้อย่างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ โดยขณะนี้มีโรงแรมเล็กบางแห่งเตรียมกลับมาเปิดรับลูกค้าคนไทยอีกครั้งเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนกิจการหลังรัฐบาลเริ่มคลายล็อกการเดินทางภายในประเทศ

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากคือธุรกิจโรงแรมขนาดกลางที่บริหารแบบอิสระ มีเจ้าของคนเดียวหรือเป็นธุรกิจครอบครัว ตรงที่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง จะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันสูงมาก เห็นภาพการตัดราคาห้องพักกันแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโรงแรมนั้นๆ มีหนี้สินมากแค่ไหนด้วย ถ้ามีหนี้มาก ก็อยู่กันยาก ถ้ามีหนี้น้อย ก็อาจจะหดตัวแล้วอยู่นิ่งๆ รอสถานการณ์ดีขึ้น หรือมีการเจรจารีไฟแนนซ์กับธนาคาร

“แต่เนื่องจากธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่มีรายได้เป็นศูนย์นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก 3 เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากอยู่กันไม่ไหวมานานกว่า 1 ปีนับตั้งแต่เจอการระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนถูกตีซ้ำให้จมน้ำในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายแม้กระทั่งจ่ายดอกเบี้ย ธุรกิจโรงแรมก็กู้เงินกันมาระยะยาวแบบนี้ หนี้ก็ทับถมไปเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมก็ไม่ค่อยอยากจะกู้ เพราะไม่เห็นแสงสว่าง และไม่รู้ว่าเมื่อไรลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเป็นปกติ”

แม้แต่โรงแรมใน จ.ภูเก็ต ซึ่งมีการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะยังได้ประโยชน์แบบไม่ทั่วถึงนัก ที่สำคัญประเทศต้นทางที่เป็นตลาดเป้าหมายของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เช่น สหราชอาณาจักร ได้ประกาศปรับสถานะให้ประเทศไทยอยู่กลุ่มสีแดง (Red List) ทำให้นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรซึ่งมีจำนวนคนเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากเป็นอันดับ 2 ในช่วง 2 เดือนแรกของโครงการ ได้ยกเลิกการจองห้องพักและรีบเช็กเอาต์เดินทางกลับก่อนกำหนด เพราะไม่ต้องการเข้ากักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นระยะเวลา 10 วัน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 2,230 ปอนด์ หรือประมาณ 100,000 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลไทยเร่งพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วและมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย แบบไม่ต้องกักตัว ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในประเทศไทยก็ตาม โดยมีการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เพราะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ได้เป็นตัวอย่างแล้วว่านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้นำเชื้อมาปล่อยให้คนไทย ส่วนใหญ่ที่ตรวจคัดกรองพบมีเพียง 0.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และส่วนมากจะคัดกรองพบในการตรวจหาเชื้อครั้งแรกที่สนามบิน

“เรียกได้ว่าสภาพคล่องของธุรกิจโรงแรมตอนนี้หมดหน้าตักแล้ว การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดก็วนกลับมาเรื่องเดิมคือการเร่งฉีดวัคซีนแก่คนไทยมากกว่านี้ เพราะเมื่อพูดกันตรงๆ แล้วประเทศไทยอาจจะช้าเรื่องนี้ไปสักนิด หากเร่งฉีดได้เร็วกว่านี้ ก็น่าจะเปิดให้คนมาท่องเที่ยวได้เร็วกว่านี้ ภาคธุรกิจโรงแรมจะได้ไม่ต้องปิดนาน และไม่เจ็บตัวจนมาถึงจุดนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเจ็บปวดที่สุดของที่สุดแล้ว ขณะที่ความหวังก็ค่อยๆ หายไป เพราะต่างคาดการณ์ว่าแม้ปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับมา แต่ก็ไม่ได้กลับมาจำนวนมากแบบทีเดียว เป็นการทยอยกลับมามากกว่า ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวเร็วมากเพื่อรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้”