͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ธรรมศาสตร์' ขีดเส้น 5 ปี ปั้น ‘อ.คลองหลวง’ สู่ต้นแบบ Smart City  (อ่าน 142 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Chanapot

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 14700
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 เพื่อพัฒนา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้เป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ ตามโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคลองหลวง (Khlong Luang Smart City)

รศ.เกศินี เปิดเผยว่า จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพหลากหลายด้าน และมีความพร้อมต่อการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะใน 7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment), การบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance), การขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility), พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy), เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)


ทั้งนี้ ธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และ สวทช. ในฐานะองค์กรด้านการศึกษาและเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้เห็นพ้องร่วมกันว่า จะพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อผลักดันให้ อ.คลองหลวง เป็นต้นแบบของ Smart City ในทุกด้านอย่างแท้จริง

ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับ อ.คลองหลวง สู่Smart City
รศ.เกศินี กล่าวต่อว่า ภายใต้ MOU ฉบับนี้ได้กำหนดกรอบเวลาในการทำงาน 5 ปี โดยจะมีการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วมด้านเมืองอัจฉริยะ” ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนปฏิบัติการ และติดตามการปฏิบัติการ รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาจากฐานรากที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

“ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและระบบการนำทางอัจฉริยะ การพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัย  การจัดการสภาพแวดล้อม และการจัดการพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย SDGs ดังนั้นจึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำพาคลองหลวงและ จ.ปทุมธานี สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ” รศ.เกศินี กล่าว


นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.ปทุมธานี กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนานี้จะตอบโจทย์อย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1. การให้บริการ ซึ่งการพัฒนา Smart City ทั้ง 7 ด้าน ขณะนี้มีหลายด้านที่พร้อมให้บริการพี่น้องประชาชน   2. การพัฒนา ที่จะช่วยกันพัฒนาทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

3. การแก้ไขปัญหา ซึ่งภายใต้ MOU ฉบับนี้มีประเด็นปัญหาหลายเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข 4. การรักษาข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ อ.คลองหลวง ได้รับความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบรรลุตามเป้าหมายต่อไป


สวทช.-ท้องถิ่น พร้อมพัฒนาทุกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
นายนิติชัย วิริยานนท์ นายอำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า อ.คลองหลวง เป็นอำเภอขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากกว่าในบางจังหวัด จึงทำให้เต็มไปด้วยปัญหา ความคาดหวัง และความต้องการที่หลากหลาย ทางอำเภอจึงหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยนำพาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวคลองหลวงให้ดีขึ้น และต่อยอดความสำเร็จไปสู่อำเภออื่นๆ ใน จ.ปทุมธานี ต่อไป

นางลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในอำเภอนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาคมในพื้นที่ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย   ซึ่งในส่วนนี้ สวทช.จะมีส่วนร่วมในฐานะหน่วยงานวิจัย ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาและบริหารจัดการอื่นๆ     ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ


“แม้โครงการความร่วมมือนี้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ทุกฝ่ายล้วนมีความพร้อมและแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกันผลักดันงานและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของกรอบความร่วมมือฉบับนี้ ที่จะพลิกโฉมให้คลองหลวงเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ เป็นศูนย์กลางการศึกษา ตลอดจนการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ไร้มลพิษ ซึ่งสามารถที่จะขยายผลอย่างยั่งยืนนี้ไปทั่ว จ.ปทุมธานี ได้ต่อไป” นางลดาวัลย์ กล่าว