͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ดีลซื้อ “ATK Lepu” ได้ไปต่อ “ลุงตู่-หมอชนบท” เสียรังวัดอย่างแรง  (อ่าน 147 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Beer625

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 13322
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


หลังอลเวงมากว่าสองสัปดาห์ในโครงการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด แบบ Antigen Test kit (ATK) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก จำนวน 8.5 ล้านชุด ซึ่งก่อนหน้านี้มี “ข้อสั่งการ” ของ  “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขอให้ชุดตรวจ ATK ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะจัดซื้อนั้นต้องผ่านมาตรฐาน WHO ตามข้อเรียกร้องของชมรมแพทย์ชนบทที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันเพื่อให้ได้ชุดตรวจที่มีคุณภาพสูง มีความแม่นยำ จากนั้นเรื่องก็ “เงียบฉี่” ไปร่วมสัปดาห์ กระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา “ความชัดเจน”  ก็เกิดขึ้น เมื่อที่ประชุม ครม.รับทราบ “ข้อสั่งการใหม่” ของนายกรัฐมนตรี โดยกลับลำขอให้เร่งมือจัดหามาโดยเร็วที่สุดแทน

 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.รับทราบการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ศบค.ครั้งที่ 12/2564 และการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยแก้ไขข้อความจากเดิมที่ระบุในข้อสรุปผลการประชุม ศบค. หน้าที่ 17 ข้อ 6 ว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด” นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการ ศบค.ปรับปรุงแก้ไขข้อสั่งการนายกฯ มีข้อความดังนี้คือ “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

สำหรับเหตุผลที่เปลี่ยนแปลงให้ ATK ไม่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก WHO นั้น มีคำอธิบายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรายงานต่อครม.ว่า ชุดตรวจ ATK ถ้าจะผ่าน WHO มีเพียงชุดตรวจสำหรับใช้โดยบุคคลากรทางการแพทย์ (Professional use) ที่ WHO ให้การรับรอง แต่ ATK สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) WHO ยังไม่ได้ให้การรับรองใดๆ ทั้งสิ้น

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดสามารถมองได้ 2 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก หากคิดแบบโลกสวยก็อาจมองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ดื้อดึงและรับฟังข้อเท็จจริง

ประเด็นที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ใช้ SINGLE COMMAND โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัด ทำให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งส่งผลทำให้การจัดซื้อชุดตรวจ ATK เป็นไปด้วยความล่าช้า และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงชุดตรวจได้อย่างรวดเร็ว เพราะการจัดซื้อชุดตรวจครั้งนี้คือการจัดซื้อสำหรับประชาชนทั่วไปใช้มิใช่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

หลังจาก ครม. เคาะเกณฑ์ใหม่แล้ว นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้แจ้งโรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเดินหน้าดำเนินการจัดซื้อ ATK คู่ขนานไปกับการแจ้งบริษัทที่ชนะการประมูล ให้มาดำเนินการตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตามข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรี ระบุให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้ ATK ถึงมือประชาชนโดยเร็ว โดยลงนามในหนังสือลงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน  นางศิริญา เทพเจริญ  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะตัวแทนจำหน่าย Lepu ให้สัมภาษณ์สื่อถึงเรื่องที่องค์การเภสัชกรรม เตรียมทำสัญญาจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ในวันที่ 27 สิงหาคม แต่เนื่องจากต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม จึงเลื่อนการทำสัญญาออกไปเป็นวันจันทร์ ที่ 30 สิงหาคม 2564 แทน ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญา แล้วทางบริษัทพร้อมนำเข้าสินค้าตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ทันที

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่เรื่องจะจบลงอย่างที่ปรากฏ ทางณุศาศิริก็เคลื่อนไหวอย่างหนัก โดยประกาศว่า บ.ณุศาศิริ ฯ และ บ.เวิลด์ เมดดิคอลฯ จะเป็นผู้นำเข้า ATK เพื่อคนไทย จำนวน 8.5 ล้านชิ้น มาจำหน่ายให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ในราคาเพียงชุดละ 75 บาท โดยเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ประมูลได้จากทางองค์การเภสัชฯ ซึ่งู้ที่สนใจสามารถเข้าไป Pre Order ขั้นต่ำ 1 กล่อง ( 1 กล่อง มี 25 ชุด) ได้ตั้งแต่วันที่ 23 -31 ส.ค.นี้ (สินค้า Pre-Order รับชุดตรวจที่คลินิกและร้านขายยาที่ร่วมโครงการกับ MORHELLO ได้ภายใน 14-30 วัน นับจากรับยอดโอน) หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่ Line @ Morhello ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทว่า หลังจากมีความชัดเจนเรื่องการทำสัญญากับ อภ. นางศิริญาชี้แจงว่า การจำหน่ายให้ประชาชนจะเปิดให้ซื้อเพียง 5 วันเท่านั้น และหลังจากนี้จะไม่มีราคานี้อีก โดยขณะนี้มีทั้งสถานประกอบการ โรงงาน และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจสั่งซื้อกันแล้วยอดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านชิ้น คาดว่าผลิตภัณฑ์ส่วนนี้จะเข้ามากระจายให้ผู้ที่สั่งจองภายใน 14-30 วัน อีกทั้งหลังจากนี้บริษัทจะนำเข้ามาขายแบบทั่วไปด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาราคาขายที่เหมาะสม แต่ในเบื้องต้นขณะนี้ขอนำเข้าในสัดส่วนที่ภาครัฐเตรียมจัดซื้อเพื่อแจกประชาชนใช้ฟรีก่อน

ขณะที่ปฏิกิริยาอีกฟากฝั่งทาง  ชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 สวนมติ ครม.ที่ออกมาใหม่ทันควัน โดยจั่วหัวว่า “ตู่ไม่แข็ง ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะยังคงตรวจสอบคุณภาพ ATK ที่ประมูลได้ต่อไป” โดย  นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  ระบุว่าข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีการแก้ไขใหม่นั้น ทางชมรมฯ มองเห็นแนวโน้มมาตลอดและสุดท้ายก็ชัดเจนว่า “รัฐบาลของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ไม่แข็งจริง การไม่มีหลักยึดทีมั่นชัด ไม่แข็งที่จะยืนบนหลักที่ถูกต้อง ทำให้การนำรัฐนาวาประเทศไทยสู่การฝ่าฟันวิกฤตโควิดไปได้นั้นสาหัสและเจ็บหนักมากทั้งชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจไทย”

ชมรมแพทย์ชนบท ยังคงยืนบนหลักการของแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ที่เคยเสนอไปแล้วว่า อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่องค์กรรัฐ แต่อำนาจการตรวจสอบอยู่ที่เราภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ยังยืนยันที่จะระดมทีมปฏิบัติการจากทุกภาค ทำการตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีผลบวกปลอมและผลลบปลอมในสัดส่วนที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่ โดยจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ และหากผลการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ด้าน  “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า สปสช. เป็นเจ้าของงบประมาณ พร้อมกระจายชุดตรวจโควิดให้ประชาชนทันที หลังชุดตรวจ Lepu เข้าไทยแล้ว เบื้องต้นวางแผนว่าจะกระจาย 3 แบบ ระจาย 3 แบบ คือ กระจายให้ชุมชนแออัดในพื้นที่สีแดงเป็นลำดับแรก กระจายไปยังร้านยาในเครือข่าย จากนั้นให้ประชาชนมารับชุดตรวจ และกระจายไปยังหน่วยให้บริการ เช่น รพ.สต. ศูนย์สาธารณสุข สถานพยาบาลในเครือข่ายของ สปสช. แล้วให้ประชาชนมารับชุดตรวจ ซึ่งเป้าหมาย คือต้องการให้ประชาชนนำไปตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง และให้บุคลากรเป็นผู้ตรวจให้กับกลุ่มเสี่ยง หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่เห็นว่ามีความเสี่ยง ก็จะให้ชุดตรวจกลับไปตรวจที่บ้านอีก 1-2 ชุดและตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าอาจจัดส่งชุดตรวจให้ถึงบ้านผ่านระบบไปรษณีย์ หรือ ไรเดอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยหลังแจกจ่ายให้ประชาชนแล้ว ก็จะมีคณะทำงานติดตามผลว่าชุดตรวจที่ใช้มีประสิทธิภาพมากกน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจจัดซื้อในครั้งหน้า

ทั้งนี้ นอกจาก สปสช. และชมรมแพทย์ชนบท ที่เตรียมเดินหน้าทดสอบคุณภาพชุดตรวจ Lepu แล้ว  “สมชัย เจิดเสริมอนันต์” นายกสภาเทคนิคการแพทย์ บอกว่าสภาได้รับการติดต่อจาก อย. มาขอให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานตรวจสอบคุณภาพชุดตรวจ Lepu หลังกระจายให้ประชาชนใช้ด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงาน และต้องรอความชัดเจนจาก อย. อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นและความต้องการชุดตรวจ ATK ของประชาชนได้เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มีผู้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าและจำหน่ายชุดตรวจแล้วทั้งสิ้น 42 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแหล่งผลิตชุดตรวจดังกล่าวมีโรงงานผลิตในประเทศจีนมากถึง 24-25 บริษัท รองลงไปเป็นเกาหลี 9 บริษัท สหรัฐอเมริกา 3 บริษัท ไต้หวัน 3 บริษัท สเปน 1 บริษัท และสวิตเซอร์แลนด์ 1 บริษัท

สำหรับราคานำเข้าและราคาขายชุดตรวจ ATK นั้น หลังจากกรมการค้าภายใน ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้าชุดตรวจATK จัดส่งข้อมูลต้นทุนและราคาขายในท้องตลาดมาให้กรมพิจารณานั้น ข้อมูลที่จัดส่งมาให้กรมฯ แล้ว 9 ยี่ห้อ มีต้นทุนการนำเข้าแบบซีไอเอฟ (ค่าสินค้าบวกค่าประกันและค่าขนส่ง) ชิ้นละ 40.60-221.71 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าบริหารจัดการ และส่วนต่างราคา ราคาขายส่งอยู่ที่ชิ้นละ 160-305.55 บาท และราคาขายปลีกชิ้นละ 219.35-425 บาท หรือราคาขายในท้องตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 250-350 บาท

ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดราคาขายให้เหมาะสม และเปิดสายด่วน 1569 เพื่อให้ประชาชนแจ้งปัญหาเรื่องราคาสินค้า รวมทั้งสามารถแจ้งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยชุดตรวจเอทีเค, วัคซีนป้องกันโควิด-19 และยาฟ้าทะลายโจร เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศ กกร.ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2564

...ก็เป็นอันว่า ดรามาศึกชุดตรวจ ATK Lepu ที่เกิดขึ้นจาก “นายกฯ ลุงตู่” ก็จบลงด้วย “การกลับลำ” ของ “นายกฯ ลุงตู่” ด้วยประการฉะนี้