͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ไขปริศนาถอน 'ผลวิจัย' ฟ้าทะลายโจร กับขบวนการ 'ด้อยค่า' และคำว่า 'ยาหลอก'  (อ่าน 127 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ kaidee20

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 16453
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด


กลายเป็น TALK OF THE TOWN ในทันที่ สำหรับ “ฟ้าทะลายโจร” หลังจากมีข่าว “การถอนผลวิจัย” ที่ชื่อว่า “Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial” ของคณะวิจัยจากประเทศไทย ซึ่งกำลังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ และเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ “เมดอาซีฟ” (www.medrxiv.org) เว็บไซต์คลังงานวิจัยที่เป็นต้นฉบับที่ยังไม่ตีพิมพ์เกี่ยวกับการแพทย์ การทดลองทางคลินิก และวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นผลงานของนักวิจัย 7 คน โดย 5 คนมาจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อีก 2 คนมาจากโรงพยาบาลสมุทรปราการ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเรื่องปรากฏต่อสาธารณชน ความสับสนอลหม่านก็เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา “คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ” ได้เพิ่มยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจร เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ให้เป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย และประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาต่างก็พากันไปซื้อฟ้าทะลายโจรมาใช้เป็นจำนวนมาก

กระทั่ง “พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ว่า การขอถอนข้อมูลงานวิจัยชิ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นการถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการ แต่นักวิจัยไทยได้ขอถอนงานวิจัยกลับมาชั่วคราว เนื่องจากพบ “ความผิดพลาดของสถิติหนึ่งจุด" และระบุว่าผลลัพธ์การทดลองที่มีความคลาดเคลื่อนทางสถิติดังกล่าวไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการกินยาหรือจ่ายยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19

หรือแปลไทยเป็นไทยก็คือ ยังสามารถใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ถ้าหากสังคมพินิจพิเคราะห์ “ปรากฏการณ์ถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจร” ที่เกิดขึ้นก็จะพบ “ความผิดปกติ” โดยเฉพาะกรณี “ความผิดพลาดของสถิติจุดหนึ่ง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้กับ “งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์” ที่ต้องมีความแม่นยำก่อนที่จะเผยแพร่ผลงานออกไปสู่สาธารณชน ยิ่งเป็นการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำ “มั่วซั่ว” ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่านี่คือ “งานวิจัยทางการแพทย์ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งไม่ใช่ “งานวิจัยทางสังคมศาสตร์” ที่สามารถมีข้อโต้แย้งในภายหลังหากพบ “หลักฐานใหม่”

หลายคนตั้งคำถามว่า หรือจะเป็นเพราะ “คณะวิจัย” ทำด้วย “ความเร่งรีบ” หรือทำงานภายใต้ “ภาวะกดดันบางประการ” จนทำให้เกิด “ความผิดพลาดของสถิติหนึ่งจุด” ซึ่งก็มีความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้

ขณะที่อีกหลายคนก็อาจตั้งคำถามว่ามี “อะไรในกอไผ่” หรือไม่ดังสมมติฐานและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เหมือนดังที่ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งคำถามเอาไว้ว่า “มีคำถามอยู่ว่างานระดับที่ป้อนข้อมูลและใช้การคำนวณโดยโปรแกรมเช่นนี้ เกิดความผิดได้อย่างไร? จนถึงขั้นแปลผลผิดจากแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลายเป็นแตกต่างกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมหน้า 48)

ทีนี้ มาดูรายละเอียดในงานวิจัยชิ้นนี้กันว่า เป็นอย่างไร

พญ.อัมพร อธิบายรายละเอียดเอาไว้ว่า งานวิจัยนี้นี้เริ่มต้นในช่วงที่ยังไม่มียาตัวใดเลยที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าสามารถฆ่าไวรัสโคโรนาหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้โดยตรง จึงมีการทดลองและเก็บข้อมูลการใช้ยาชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษาโควิดได้ เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยเป็นการทดลองแบบสุ่มโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ใช้ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยอายุตั้งแต่ 18-60 ปี จำนวน 57 คน ที่ยืนยันการตรวจพบเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินสารสกัดฟ้าทะลายโจร อีกกลุ่มกินยาหลอก หรือเม็ดยาเปล่า ๆ ที่ไม่ได้มีฟ้าทะลายโจร

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

จากผู้ป่วย 57 ราย ในกลุ่มผู้ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย ไม่พบอาการปอดอักเสบ แต่ในกลุุ่มที่ได้ยาหลอก 28 ราย พบอาการปอดอักเสบ 3 ราย คิดเป็น 10.7%

สำหรับเรื่องความคงอยู่ของตัวไวรัสในวันที่ 5 พบผู้ป่วยกินสารสกัดฟ้าทะลายโจร ใน 29 ราย ไวรัสอยู่แค่ 10 ราย (34.5%) ส่วนผู้ป่วยกลุ่มกินยาหลอก 28 ราย เจอว่าไวรัสยังอยู่ 16 ราย (57.1%)

ขณะที่ในเรื่องความคลาดเคลื่อนนั้นอยู่ที่ค่านัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้ยาหลอกในการทดลอง โดยค่านัยสำคัญทางสถิติที่คำนวณได้ครั้งแรกมีความคลาดเคลื่อน กล่าวคือตอนแรกคำนวณได้ว่าเป็น 0.03 และได้นำเสนอไป แต่เมื่อได้กลับพิจารณาอีกครั้ง จึงค้นพบว่ามีจุดอ่อนอยู่จุดหนึ่งแทนที่จะเป็น 0.03 ก็เป็น 0.112 หรือหมายความว่า หากมีการทดลอง 100 ครั้ง การค้นพบว่าผลลัพธ์คงเดิมจะอยู่ที่ประมาณ 97 ครั้ง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมาก แต่ตัวเลขที่คำนวณถูกต้อง หรือ 0.112 จะหมายความได้ว่า หากมีการทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์ที่เจอว่าเหมือนเดิมจะอยู่ที่ 90 ครั้ง ความคงที่จะลดลงมาในระดับหนึ่ง

วิญญูชนก็น่าจะ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” พร้อมตั้งคำถามได้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย

เอาเป็นว่า หลังจากที่ถอนผลวิจัยออกมาแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับการปรับปรุง “ความผิดพลาดทางสถิติหนึ่งจุด” ดังกล่าว การวิจัยจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่และจะมีการนำเสนอเพื่อกลับไปตีพิมพ์เหมือนเดิมด้วยข้อมูลที่ออกมาในลักษณะไหน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ “ไม่อาจกระพริบตา” ได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องฟ้าทะลายโจรมาอย่างต่อเนื่อง คงต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะ “ด้อยค่าฟ้าทะลายโจร” จาก “แพทย์แผนปัจจุบัน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ “นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์” ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งออกมาโพสต์เรื่องการถอนผลวิจัยฟ้าทะลายโจรเป็นรายแรกๆ จนต้องออกมาโพสต์แก้ไขซ้ำอีกครั้ง

นพ.สันต์โพสต์เอาไว้ว่า “คณะผู้วิจัยชาวไทยที่ทำวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดได้ขอถอนต้นฉบับของตัวเองกลับออกมาจากเว็บไซต์งานวิจัยรอตีพิมพ์ (medRxiv) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการคำนวณเชิงสถิติในประเด็นการคิดค่านัยสำคัญทางสถิติ (p-value) คิดไม่ถึงว่าจะมีผู้ตัดเอาบทความของตนครึ่งบรรทัดไปโพนทะนาผ่านทางหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ว่า ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดไม่ได้ ผลเสียแล้วควรต้องเลิกใช้ ซึ่งเป็นการตัดบทความเอาไปแค่บรรทัดเดียวแล้วเอาไปกระเดียดที่ได้ผล ทั้งนี้ ตนขอแก้ไขคำพูดใหม่ เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ในคนยังมีไม่มากพอ เพราะยังขาดงานวิจัยระดับ RCT จึงต้องทำวิจัยซ้ำโดยการขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น เพราะการที่กลุ่มตัวอย่างเล็กได้ค่า p มากกว่า 0.05 ก็บอกได้แค่ว่ายังบอกไม่ได้ว่าความแตกต่างในผลการรักษา คือการเกิดปอดบวม ในทั้งสองกลุ่มมันต่างกันจริงหรือไม่ การจะรู้ได้ก็ต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้ ไม่ได้บ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ไม่ได้ผล ซึ่งยาคู่แข่งกันที่ใช้ในเมืองไทยอีกตัว คือ Favipiravir ก็มีข้อมูลน้อยประมาณเดียวกัน คือทุกอย่างติดอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ”

“แต่ฟ้าทะลายโจรมีความพิเศษกว่า Favipiravir ตรงที่แค่ทำวิจัยซ้ำขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดเดียว ก็จะเห็นดำเห็นแดงแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อีกทั้งฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสามัญในท้องถิ่น หาง่ายกว่า ราคาถูกกว่า มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติมากกว่า ในแง่การค้าขายระดับนานาชาติ หากจะขายฟ้าทะลายโจรก็ต้องมีงานวิจัยระดับ RCT สนับสนุน ตัวหมอสันต์จึงลุ้นตัวโก่งให้ทำงานวิจัยนี้ต่อให้เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำ โดยยินดีช่วยทุกอย่างเท่าที่หมอแก่คนหนึ่งจะช่วยได้”

หรือแม้กระทั่ง “กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” เอง โดยเฉพาะตัว “อธิบดี” เองที่ให้สัมภาษณ์ในการแถลงข่าวเรื่องการถอนผลงานวิจัยเอาไว้ว่า “เราไม่ได้ต้องการให้เชื่อมั่นในฟ้าทะลายโจรจนเกินความพอดี ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่ระมัดระวัง อันนี้ถือเป็นแรงกระตุกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ซึ่งฟังดูแล้วต้องใช้คำว่า “แปลกๆ” ทั้งๆ ที่ “คณะทำงานหลัก” ของการวิจัยชิ้นนี้ก็มีถึง 5 คนที่มาจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเอง

คำว่า “อันนี้ถือเป็นแรงกระตุกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” หมายความว่า ดีแล้วที่มีการถอนการวิจัยออกมาเช่นนั้นหรือ?

แล้วที่เป็น “ดรามา” ไม่แพ้กันคือ “หมอแล็บคนดัง” ที่ไปแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กของแพทย์คนหนึ่ง พร้อมระบุว่า งานวิจัยฟ้าทะลายโจรชิ้นนี้ผู้วิจัยขอถอนออกไปแล้ว เพราะคำนวณสถิติผิดพลาด สรุปที่ถูกต้องสำหรับงานวิจัยนี้คือ “ฟ้าทะลายโจรไม่แตกต่างจากยาหลอก” ซึ่งมีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียดอย่างที่ “หมอสันต์” ว่า จนเกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ทว่า “หมอแล็บคนดัง” ก็ออกมาโพสต์ข้อความในเพจว่า “เสียใจ หาฟ้าทะลายโจรมาให้ผู้ป่วยเยอะมาก ล่าสุดแชร์งานวิจัยที่ถูกถอนแค่งานวิจัยเดียว โดนหาว่าด้อยค่าฟ้าทะลายโจรไปอีกครับ ชีวิตอดสูมาก นอนแพ้บ”

แต่ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ เพราะความจริงก็คือ ในเฟซบุ๊กหมอแล็บคนดังได้ลบข้อความที่ระบุว่า “งานวิจัยฟ้าทะลายโจรชิ้นนี้ถูกถอดออกไปแล้วครับ เพราะคำนวณสถิติผิดพลาด สรุปที่ถูกต้องสำหรับงานวิจัยนี้คือ ฟ้าทะลายโจรไม่แตกต่างจากยาหลอก” ออกจากเพจไป ซึ่งมิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปกระเดียด ด้วยมีผู้ “แคปข้อความ” เอาไว้ได้เป็นหลักฐานชัดเจน

ความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตมากนักสำหรับ “หมอแล็บคนดัง” ถ้าหากจะยอมรับความผิดพลาดอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่การที่แถไถและลบข้อความออกไป ทำให้นักเทคนิคการแพทย์ผู้นี้ถูกมองว่า “ด้อยค่าฟ้าทะลายโจร” อย่างที่เจ้าตัวบ่นพึมพำในเพจเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่สำคัญคือ การใช้คำว่า “ฟ้าทะลายโจรไม่ต่างจากยาหลอก” ถือเป็นคำที่นัยสำคัญมาก

ในทางการแพทย์ “ยาหลอก” (Placebo) ก็คือยาที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยทำให้มีลักษณะ สี และขนาดต่าง ๆ ให้ดูคล้ายกับยาทั่วไป แต่ไม่มีสารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ มีส่วนประกอบหลักที่ทำมาจาก แป้งหรือน้ำตาล จากนั้นก็นำไปให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่คนไข้มีอาการต่างๆ ดีขึ้น จากการให้ยาที่ไม่ได้มีตัวยาอยู่จริง โดยมีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1785

ที่สำคัญคือ ในการทดลองพบว่า ยาหลอกก็มีผลต่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกันแม้ไม่มีสารออกฤทธิ์ทางการแพทย์

แต่ในความเข้าใจของประชาชนคนทั่วไป เมื่อเห็นคำว่า “ยาหลอก” มักเข้าใจว่าคือ “ยาปลอม” ซึ่งไม่ถูกต้อง

ดังนั้น การที่ใช้คำว่า “ไม่ต่างจากยาหลอก” จึงเสมือนเป็นการ “ด้อยค่าฟ้าทะลายโจร” ทั้งในทางการแพทย์คือมองว่าเป็นยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์กับโควิด-19 ทั้งในความรู้สึกของประชาชนที่อาจเข้าใจว่าเป็น “ยาปลอม” ไปเลยก็ได้

ทั้งๆ ที่มีผลวิจัยและผลการศึกษามากมายที่ยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจร หนึ่งในนั้นก็คือสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” เอาไว้ดังนี้

“สืบเนื่องจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลว่าใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วทำให้ตับพัง จากงานวิจัยฟ้าทะลายโจรในต่างประเทศที่ใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งชนิดผงและสารสกัด ในการรักษาอาการหวัด หลอดลมอักเสบ ไม่มีรายงานว่าฟ้าทะลายโจรก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ นอกจากนั้นในการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพยาของการใช้ผงฟ้าทะลายโจรปริมาณ 12 แคปซูล (4.2 กรัม) ต่อวัน ติดต่อกัน 3 วัน (มีปริมาณสาร Andrographolide 97 มิลลิกรัมต่อวัน) ไม่พบว่าการทำงานของเอนไซม์ตับ AST (Aspartate Aminotransferase) และ ALT (Alanine Aminotransferase) ผิดปกติ (Suriyo et al., 2017) สำหรับการศึกษาความปลอดภัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพยาของสารสกัดฟ้าทะลายโจรปริมาณ 9 แคปซูล ต่อวัน (มีปริมาณสาร Andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน) [อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา] ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและระยะวันการได้รับฟ้าทะลายโจร ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์ตับเช่นกัน

“แต่หากใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร Andrographolide ในขนาดสูงถึง 360 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 7 วัน จะพบการเปลี่ยนแปลงของ AST เล็กน้อย ในอาสาสมัคร 1 คนใน 12 คน ซึ่งค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นนี้จะกลับเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนค่าเอนไซม์ ALT จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอาสาสมัคร 4 คน ซึ่งคิดเป็น 33.33% แต่การทำงานของเอนไซม์ก็จะกลับเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์ ดังนั้นขนาดของสาร Andrographolide ที่เหมาะสม คือ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน จึงไม่ควรใช้ในขนาดและระยะเวลานานเกินกว่านี้

“เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากที่ต้องการยารักษาโรคโควิด-19 และยาฟ้าทะลายโจรก็เป็นสมุนไพรที่ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และการศึกษาในทางคลินิกในผู้ติดเชื้อจริง ทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งได้มีการใช้ในรูปแบบผง สารสกัด และการพัฒนาสารอนุพันธ์ Andrographolide ให้อยู่ในรูปแบบยาฉีด ดังนั้นหากมีการพบการติดเชื้อโควิด-19 จึงควรใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรทั้งรูปแบบผงและสารสกัดทันที ในขนาดและระยะเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นยาที่มีประโยชน์มากและมีความปลอดภัยในระดับที่รับได้ เป็นการช่วยลดภาระของรัฐบาลและช่วยระบบสาธารณสุขของชาติได้”

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับ “ฟ้าทะลายโจร” ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ฟันธงแบบไม่กลัว “ธงหัก” ได้เลยว่า สงครามโควิด-19 ซีซั่นใหม่นี้ ไม่อาจกระพริบตาด้วยมีความลึกลับซับซ้อนและปริศนาในทุกมิติเลยทีเดียว.