͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ขาลงท็อปโกรฟ' ฉุดตลาดหุ้นมาเลย์ซึม  (อ่าน 212 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Thetaiso

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 9362
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด



ตลาดหุ้นมาเลเซีย ซึ่งปีที่แล้วถือเป็น“ผู้ชนะ”เพราะราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมาก จากแรงหนุนของบริษัทต่างๆที่มีผลประกอบการสดใสเพราะยอดขายปรับตัวขึ้น ผลกำไรพุ่งมหาศาลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ตอนนี้ ตลาดหุ้นมาเลเซียกลายเป็น“ผู้แพ้”ในฐานะเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย

ปีที่แล้ว ราคาหุ้นของบรรดาผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซียปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก ขณะที่นักลงทุนก็พากันลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทเหล่านี้ท่ามกลางความต้องการเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง หน้ากากอนามัยตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆทะยานขึ้นทั่วโลกเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19

ราคาหุ้นท็อปโกรฟ,ซูเปอร์แม็กซ์ และฮาร์ตาเลกา ซึ่งผลิตถุงมือยางรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า50% ของถุงมือยางทั่วโลก ทะยานขึ้นประมาณ 170% ,1,233% และ 147% ตามลำดับ ในช่วงเดือนพ.ค.และธ.ค.ปีที่แล้ว โดยราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ช่วยหนุนให้ดัชนีคอมโพสิตกัวลาลัมเปอร์ (เคแอลซีไอ)ทะยานขึ้น 22% ในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ภาวะขาขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซียมีอันต้องสะดุดหยุดลงเพราะข้อกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงาน โดยท็อปโกรฟ ถูกห้ามส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐ ขณะที่ซูเปอร์แม็กซ์ และฮาร์ตาเลกา กำลังถูกตรวจสอบจากหน่วยงานศุลกากรสหรัฐ (ซีบีพี) (United States Customs and Border Protection) ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเข้า การส่งออก และการเก็บภาษีอากร

การที่ราคาหุ้นบริษัทผลิตถุงมือยางร่วงลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีหุ้นเคแอลซีไอ ในปีนี้ร่วงลงเกือบ 7% สวนทางกับดัชนีหุ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่ขยายตัวขึ้น 0.4% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและไทย ขยายตัวขึ้น 9.6%


“ดูเหมือนว่าดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียเป็นตลาดหุ้นเพียงแห่งเดียวของภูมิภาคที่ผลประกอบการไม่ดีในปีนี้”เอ็มไอดีเอฟ อามานาห์ อินเวสต์เมนต์แบงก์ ระบุในรายงานวิจัย

รายงานวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุถึงตัวแปรต่างๆที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่สี่ ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

ขณะที่มูดี้ส์ อนาไลติคส์ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2564 ลงสู่ระดับ 4.7% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 5.6% หลังมาตรการจำกัดการเดินทางได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

“สตีเวน โคชแรน” นักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาไลติคส์ ระบุว่า “ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน จึงมีความเสี่ยงที่คำสั่งจำกัดการเดินทางในปัจจุบันอาจต้องขยายไปถึงเดือนส.ค. ซึ่งเราจะติดตามอย่างใกล้ชิด และอาจมีการปรับลดเพิ่มเติมอีกในปี 2564 นี้”


นอกจากนี้ โคชแรนยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีของมาเลเซียในปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4%

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงกดดันจากทั้งความรุนแรงของการระบาดระลอกใหม่ และนโยบายที่ใช้ควบคุมโรค” เขากล่าว

นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในมาเลเซียก็มีส่วนทำให้การรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า โดยล่าสุด พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่สุดในมาเลเซียและเป็นแกนนำสำคัญของรัฐบาลผสม ตัดสินใจถอนตัวสนับสนุนนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย พร้อมทั้งเรียกร้องขอให้นายมูห์ยิดดินลาออกเพราะล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด-19

การตัดสินใจของพรรคอัมโนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนายมูห์ยิดดินแต่งตั้งสมาชิกอาวุโสคนหนึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม ส.ส.ของพรรคอัมโนบางคน

“อาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดี” ประธานพรรคอัมโน แถลงชี้แจงเกี่ยวกับการถอนตัวสนับสนุนนายมูห์ยิดดินว่า เพื่อทำให้เกิดเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทันทีที่รัฐบาลดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว