มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดศึกษาจากการตรวจเนื้อเยื่อจมูกและคอกว่า 3 ล้านตัวอย่างทั่วอังกฤษ พบว่า หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 แล้วสองสัปดาห์ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือ 85% และ 68% ตามลำดับ ครั้นผ่านไป 90 วัน ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ลดลงเหลือ 75% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าเหลือ 61% ยิ่งกลุ่มอายุ 35 ปี และสูงกว่า 35 ปีประสิทธิภาพลดลงเห็นได้ชัดยิ่งกว่ากลุ่มอายุน้อย
นางสาวซาราห์ วอล์คเกอร์ อาจารย์ด้านสถิติแพทย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า วัคซีนทั้งสองตัวเมื่อฉีดครบสองโดสยังใช้ได้ดีมากกับสายพันธุ์เดลตา “เมื่อคุณเริ่มต้นด้วยระดับสูงมากๆ คุณก็มีภูมิคุ้มกันนาน”
ผลการศึกษายังพบด้วยว่า คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาหลังฉีดไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้าไปครบสองโดสแล้ว อาจเสี่ยงติดต่อคนอื่นได้มากกว่าคนที่ติดสายพันธ์ุอัลฟา
คณะนักวิจัยไม่ได้คาดการณ์ว่าการปกป้องลดลงมากแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป แต่ชี้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองตัวที่ศึกษาจะพอๆ กันภายใน 4- 5 เดือนหลังฉีดเข็มสอง
ผลการศึกษาเน้นย้ำถึงความเสี่ยงติดต่อที่เพิ่มมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา โดยพบด้วยว่า คนที่ติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนครบแล้วก็มีไวรัสมากพอๆ กับคนติดโควิดที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แย่ยิ่งกว่าตอนที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในอังกฤษ
ข้อค้นพบของออกซ์ฟอร์ดสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) และเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐมีแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 ในเดือนหน้าท่ามกลางการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูงขึ้น โดยซีดีซีอ้างข้อมูลที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไปวัคซีนจะปกป้องได้น้อยลง
อิสราเอลเริ่มฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 ตั้งแต่เดือนที่แล้ว รับมือกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาพุ่งสูงขึ้นมากในประเทศ ประเทศยุโรปหลายประเทศก็น่าจะเริ่มฉีดเข็ม 3 ให้คนชราและประชาชนที่ภูมิคุ้มกันต่ำเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ไฟเซอร์เคยแถลงว่า วัคซีนของตนประสิทธิภาพลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เดือนก่อนแอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่า กำลังจับตาดูว่าวัคซีนของตนปกป้องได้นานแค่ไหน และจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันไว้หรือไม่