สัญญา
น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ลดลง 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 65.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 80 เซนต์ ปิดที่ 68.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล
สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (เอพีไอ) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
อีไอเอยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 1 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล
ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันร่วงลง 4 วันติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอในเอเชีย
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ได้เทขายสัญญาน้ำมันในสัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่ 6 ในรอบ 8 สัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ยุโรป และอเมริกาเหนือจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางอากาศ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) ระบุว่า เศรษฐกิจจีนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งภัยพิบัติจากน้ำท่วม ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ
นอกจากนี้ การกลั่นน้ำมันดิบของจีนในเดือนก.ค.ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบรายวันนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 ขณะที่โรงกลั่นอิสระพากันลดการผลิตน้ำมัน อันเนื่องจากกำไรที่ลดต่ำลง
สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ออกรายงานเตือนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะฉุดความต้องการใช้น้ำมันลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ไออีเอได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2564 ลงสู่ระดับ 5.3 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 5.4 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ไออีเอได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2565 สู่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 3 ล้านบาร์เรล/วัน