͸Ժ

ผู้เขียน หัวข้อ: ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์”  (อ่าน 24 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ kaidee20

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 16453
  • การ์ม่า: +0/-0
    • ดูรายละเอียด
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์” ที่ “BB” แนวโน้ม “Negative”

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของโรงแรมที่บริษัทเพิ่งซื้อกิจการและสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สินของบริษัทที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากแผนการลงทุน ตลอดจนความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไป และสินทรัพย์ของบริษัทที่กระจุกตัวอยู่ในโรงแรมเพียง 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในทำเลเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เปลี่ยนกิจการสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัว

บริษัทได้เปลี่ยนการดำเนินกิจการและหันเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัวโดยได้ทำการขายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ออกไปทั้งหมดและทำการซื้อกิจการโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทได้ขายกิจการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศไทยออกไปในเดือนมีนาคม 2564 และขายโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นออกไปในเดือนกันยายน 2564 โดยได้รับเงินจากการขายกิจการจำนวน 1.7 พันล้านบาทและ 700 ล้านบาทตามลำดับ ต่อมาในช่วงปลายปี 2564 บริษัทได้ทำการซื้อหุ้นในสัดส่วน 76% ใน บริษัท เออร์เบิร์น รีสอร์ท โฮเต็ล จำกัด และ บริษัท วอเตอร์ฟร้อนท์ โฮเต็ล จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ที่ดิน และสิทธิอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของโรงแรม 2 แห่งคือ ?Four Seasons Hotel Bangkok at Chao Phraya? (FSH) และ ?Capella Bangkok? (CPH) ตามลำดับ มูลค่าการลงทุนในหุ้นสามัญสัดส่วน 76% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งอยู่ที่ระดับ 4.2 พันล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในบริษัททั้ง 2 แห่งภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ซึ่งจะทำให้มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ระดับ 1.05 หมื่นล้านบาทโดยรวมเงินลงทุนในการซื้อหุ้นสามัญจำนวน 5.5 พันล้านบาทและเงินกู้ยืมจำนวน 5 พันล้านบาท (ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจาก บริษัท แลนด์มาร์ค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายกิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่งจำนวน 2 พันล้านบาทและเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งจำนวน 3 พันล้านบาท) บริษัทยังมีแผนจะขายสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหลักของบริษัทด้วย เช่น อาคารสำนักงาน 1 แห่งและที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยองเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการเติบโตในธุรกิจใหม่ของบริษัท

ในอนาคตบริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายไปสู่ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) หรือรูปแบบการใช้ชีวิตโดยมองหาการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและตอบสนองต่อแนวโน้มของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงที่มีอายุน้อยและกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง ปัจจุบันบริษัทมีแผนการพัฒนาโรงแรมเพิ่มอีก 1 แห่งบนถนนสาทรโดยโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2567

มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าโรงแรมทั้ง 2 แห่งที่บริษัทลงทุนซื้อกิจการมานั้นมีคุณภาพดีเมื่อพิจารณาจากความใหม่ ตลอดจนทำเลที่ตั้งที่ดี และการออกแบบที่โดดเด่น โรงแรมทั้ง 2 แห่งเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2563 โดย FSH ซึ่งมีห้องพักจำนวน 299 ห้องและ CPH ซึ่งมีห้องพักจำนวน 101 ห้องนั้นตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงบนที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการพักผ่อนและการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ โดยบริษัทวางตำแหน่งของโรงแรมดังกล่าวให้รองรับกลุ่มลูกค้าระดับสูงที่สุด (Ultra-luxury Segment) ทั้งนี้ ห้องพักของ FSH มีขนาดเริ่มต้นที่ 50 ตารางเมตร (ตร.ม.) และของ CPH ที่ขนาด 61 ตร.ม. ซึ่งเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าห้องพักของคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้ โรงแรมทั้ง 2 แห่งยังดำเนินงานโดยแบรนด์ระดับโลกคือกลุ่ม ?Four Seasons Hotels and Resorts? และ ?Capella Hotel Group? ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในเรื่องของการดำเนินงานที่มีความราบรื่นและคุณภาพบริการที่อยู่ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ

โรงแรม FSH มีบริการร้านอาหาร 6 ร้านและโรงแรม CPH มี 5 ร้าน (ซึ่งรวมทั้งร้านอาหาร บาร์ และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ) โดยโรงแรมแต่ละแห่งมีร้านอาหารที่ได้รับรางวัลดาวมิชลิน 1 ดวงได้แก่ร้าน ?Yu Ting Yuan? ของโรงแรม FSH และร้าน ?Cote by Mauro Colagreco? ของโรงแรม CPH นอกจากนี้ โรงแรมทั้ง 2 แห่งยังมีสถานที่จัดประชุมและงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วยโดยโรงแรม FSH มีพื้นที่รวม 3,300 ตร.ม. และโรงแรม CPH มีพื้นที่รวม 1,600 ตร.ม. ซึ่งสามารถรองรับแขกได้มากกว่า 1,000 คน ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพของสินทรัพย์ดังกล่าวจะสนับสนุนความแข็งแกร่งทางธุรกิจและรายได้ในระยะยาวให้แก่บริษัท

คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวแต่อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการสะดุดเป็นบางช่วง

ผลการดำเนินงานของโรงแรมทั้ง 2 แห่งของบริษัทมีอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) หลายระลอกนับตั้งแต่ที่โรงแรมเริ่มเปิดดำเนินงานในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยโรงแรมทั้ง 2 แห่งมีอัตราการเข้าพักที่ระดับต่ำกว่า 10% และมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนที่ต่ำกว่าปกติในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการโรงแรมมาในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และผลการดำเนินงานของโรงแรมเริ่มฟื้นตัว ทว่าการฟื้นตัวเริ่มชะลอลงอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาเพิ่มความเข้มงวดในการจำกัดการเดินทางอีกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจโรงแรมจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565 แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวสะดุดเป็นบางช่วงมาโดยตลอด

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และจะฟื้นตัวเต็มที่สู่ระดับปกติได้ในระหว่างปี 2567-2568 โดยภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมทั้ง 2 แห่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 28%-65% และอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนของโรงแรม CPH จะอยู่ในช่วง 16,000-21,000 บาทและของโรงแรม FSH จะอยู่ในช่วง 8,000-11,000 บาทในระหว่างปี 2565-2568 ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.0 พันล้านบาทในปี 2566 ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาทในปี 2567 และที่ระดับ 3.1 พันล้านบาทในปี 2568 จากระดับ 1.1 พันล้านบาทในปี 2565 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นประมาณ 58% ของรายได้รวมในปี 2565 และจะลดลงเหลือประมาณ 51% ของรายได้รวมในปี 2568 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะติดลบในปี 2565 (ไม่รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก) และจะเปลี่ยนเป็นบวกที่ระดับประมาณ 290 ล้านบาทในปี 2566 ที่ระดับประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2567 และที่ระดับประมาณ 770 ล้านบาทในปี 2568

การพึ่งพาสินทรัพย์โรงแรมจำนวนน้อยแห่ง

การที่บริษัทพึ่งพารายได้จากโรงแรมเพียง 2 แห่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำกัดการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจของทริสเรทติ้ง โดยทั้งโรงแรม FSH และโรงแรม CPH ตั้งอยู่ในทำเลเดียวกันและมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นกลุ่มลูกค้ารายได้สูงเช่นเดียวกัน ทริสเรทติ้งมองว่าอุตสาหกรรมโรงแรมในภาพรวมนั้นมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์เฉพาะและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้คือบริษัทต้องมีสินทรัพย์โรงแรมที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่และต้องเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กว้างขวางและหลากหลาย

บริษัทอาจจะได้รับประโยชน์จากขนาดของธุรกิจได้อีกด้วยหากบริษัทมีสินทรัพย์โรงแรมเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันของบริษัทสามารถรองรับการบริหารโรงแรมได้มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรวมโรงแรมแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาบนถนนสาทรซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 เข้ามาด้วย ทริสเรทติ้งก็ยังมองว่าขนาดของสินทรัพย์โรงแรมของบริษัทยังคงค่อนข้างเล็กและมีความหลากหลายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

คาดว่าหนี้สินจะอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการซื้อกิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่งด้วยจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงและจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กดดันผลการดำเนินงานของโรงแรม ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งในปี 2565 และบริษัทจะมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงแรมบนถนนสาทรเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 900 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 4.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 5.0-5.8 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2568 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงมากในระหว่างปี 2564-2565 และจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 20 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 10 เท่าในปี 2567 และ 7 เท่าในปี 2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% ในปี 2564 และอยู่ในช่วง 51%-53% ในระหว่างปี 2565-2568

สภาพคล่องตึงตัวขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะตึงตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2564 ในขณะที่ความต้องการในการใช้เงินทุนประกอบด้วยการซื้อหุ้นสัดส่วน 76% ในโรงแรม 2 แห่งจำนวน 3.2 พันล้านบาทในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 (บริษัทได้จ่ายเงินล่วงหน้าในการซื้อหุ้นไปแล้วจำนวน 1 พันล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2564) และการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดจำนวน 500 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 1.3 พันล้านบาทภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อีกด้วย การซื้อหุ้นดังกล่าวต้องพึ่งพาเงินจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วยที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยองซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เนื่องจากบริษัทยังมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจในการซื้อหุ้นที่เหลือเพิ่มเติมทั้งในแง่ของสัดส่วนและช่วงเวลาที่จะซื้อเพิ่มเมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมของกระแสเงินสดของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้รวมของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2565 ประมาณ 2.0 พันล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3.1 พันล้านบาทในปี 2568

? EBITDA จะยังคงติดลบในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 290 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 600 ล้านบาทในปี 2567 และเป็น 770 ล้านบาทในปี 2568

? บริษัทจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งที่มูลค่า 1.3 พันล้านบาทในปี 2565

? งบที่ใช้ลงทุนก่อสร้างโรงแรมบนถนนสาทรจะอยู่ที่จำนวนราว ๆ 900 ล้านบาทตลอดช่วงปี 2565-2567

? การขายสินทรัพย์อาคารสำนักงานและที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยองจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในระดับสูงของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมซึ่งอาจจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ซึ่งอาจเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดของธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย นอกจากนี้ แรงกดดันในด้านลบต่ออันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีการลงทุนเพิ่มโดยการก่อหนี้ หรือมีสัญญาณว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมของบริษัทฟื้นตัวดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (BEYOND)

อันดับเครดิตองค์กร: BB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว